เตรียมปิดฉากทุบทิ้ง! สถานีรถไฟเก่าแก่กลางเมืองย่าโม “สถานีรถไฟโคราช” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่พ.ศ.2443 สมัย “รัชกาลที่ 5” ครบรอบ 123 ปี ล่าสุด! 13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา รวมตัวยื่นเรื่องถึง “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” และหัวหน้าพรรคการเมือง ขอให้อนุรักษ์สถานีรถไฟเก่าแก่ของโคราชไว้ เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ รฟท.ถึงกำหนดทุบทิ้งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พลิกโฉมใหม่สร้างสถานีสุดหรู 3 ชั้นรองรับการขนส่งโดยสาร “รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่”
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 กลุ่มภาคเอกชน 13 องค์กรจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย “หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, ชมรมธนาคาร, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ชมรมประกอบการร้านอาหาร, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, เครือข่าย Biz Club, ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางโคราช, สมาคมโรงแรม, สมาคมอสังหาริมทรัพย์, กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมิตรภาพไทย-จีนจังหวัดนครราชสีมา, มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา และ สมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรจังหวัดนครราชสีมา” ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา กับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมือง โดยมีข้อความว่า
“เนื่องด้วยสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ (ชื่อสามัญ หัวรถไฟ หรือ หัวรถฯ) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เดิมชื่อสถานีโคราช เป็นสถานีรถไฟสายแรกของประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสถานีรถไฟแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัดนครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปีพ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จประพาสเยี่ยมพสกนิกร ณ สถานีรถไฟแห่งนี้เช่นกัน
ปัจจุบัน “สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา” มีอายุยาวนานมากกว่า 123 ปี ตัวอาคารยังทรงคุณค่าทางเอกลักษณ์สถาปัตยกรรม เป็นอาคารที่เปลี่ยนแปลงหมุดหมายทางสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ มีความผูกพันกับชาวนครราชสีมา และชาวอีสานเป็นอย่างมาก
13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา เล็งเห็นว่า “ควรมีการอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมาไว้เช่นเดิม ก่อนที่จะมีการปรับปรุง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ในอนาคต” จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านในการหาแนวทางอนุรักษ์รักษาอาคารสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมาสืบไป”
นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เปิดเผยว่า “ปีนี้สถานีรถไฟโคราช ตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา จะมีอายุครบ 123 ปี ซึ่งที่นี่เป็นตำนานสถานีรถไฟคู่เมืองโคราช หากย้อนอดีต “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” เสด็จเปิดเดินรถจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีนครราชสีมา และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เมืองโคราช ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ร.ศ 119 หรือ พ.ศ.2443 ซึ่งปี 2566 จะครบรอบ 123 ปี”
“และประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานีรถไฟโคราช” ได้รับความเสียหายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่เปิดใช้งาน พ.ศ.2498 และในปีเดียวกัน “ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี” ทรงประทับรถไฟพระที่นั่งลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสาน”
นายวีรพล กล่าวอีกว่า “ทางเราได้ทราบข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมทุบถอนอาคารสถานีรถไฟเก่า เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟใหม่ตามแบบสูง 3 ชั้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งมีกำหนดเริ่มทุบเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากทางกลุ่มเราได้ร่วมกันจัดงาน “รำลึก 122 ปี สถานีรถไฟโคราช” เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว”
“ตามแบบสถานีใหม่ตัวอาคารสถานีจะอยู่ตรงซุปเปอร์มาร์เก็ตไฟว์สตาร์มาร์โค ที่ทุบไปแล้ว ส่วนอาคารสถานีเก่าจะทุบเพราะพื้นที่ทับรางรถไฟที่จะสร้างใหม่ ทำให้เราคิดว่าน่าจะอนุรักษ์ไว้โดยเลื่อนรางรถไฟออกไป 20 เมตร ไม่ต้องรื้อสถานีเก่าได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ได้ชวนองค์กรต่างๆในโคราชร่วมกันทำหนังสือถึง รฟท.และหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย”
“เราขอยืนยันว่าไม่ได้คัดค้าน หรือชะลอการสร้างสถานีใหม่ให้ช้า เราไม่ได้ถ่วงความเจริญเพียงแต่อยากให้การรถไฟช่วยอนุรักษ์สถานีเก่าที่มีความทรงจำมากมายให้อยู่คู่เมืองโคราช ควบคู่กับสถานีแห่งใหม่ไม่ได้ขัดขวางที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ แต่หากทาง รฟท.จะไม่ทำตาม เราก็ไม่ไปคัดค้านหรือต่อต้านอะไรได้ แต่ก็ยังหวังว่าจะเป็นไปได้” นายวีรพล กล่าว
1 Comments
กรรมมุนา
อาคารหลังเดิมก็รู้อยู่ว่าถูกระเบิดไปแล้ว ยังอ้าง 123 ปีอยู่อีก แล้วทั้งการรถไฟที่อายุ 123 ปี ก็ควรอนุรักษ์ไว้ทั้งประเทศ ไม่ต้องมีทางคู่ ไม่ต้องมีความเร็วสูง
ร่วงกายเรา อายุผ่านไป ก็เปลี่ยนแปลงไป ระลึกถึงความหลังได้ แต่จะรักษาสังขารไว้ได้หรือ?