เตรียมปิดฉากทุบทิ้ง! สถานีรถไฟเก่าแก่กลางเมืองย่าโม “สถานีรถไฟโคราช” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่พ.ศ.2443 สมัย “รัชกาลที่ 5” ครบรอบ 123 ปี ล่าสุด! 13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา รวมตัวยื่นเรื่องถึง “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” และหัวหน้าพรรคการเมือง ขอให้อนุรักษ์สถานีรถไฟเก่าแก่ของโคราชไว้ เพราะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ รฟท.ถึงกำหนดทุบทิ้งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พลิกโฉมใหม่สร้างสถานีสุดหรู 3 ชั้นรองรับการขนส่งโดยสาร “รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/321794954_2254560078080451_5735352765530281280_n-1024x683.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320383638_1571691353346705_8128381703080792052_n-1024x768.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320519198_692412992550333_6576221697957300659_n-1024x768.jpg)
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 กลุ่มภาคเอกชน 13 องค์กรจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย “หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, ชมรมธนาคาร, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ชมรมประกอบการร้านอาหาร, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, เครือข่าย Biz Club, ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางโคราช, สมาคมโรงแรม, สมาคมอสังหาริมทรัพย์, กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมิตรภาพไทย-จีนจังหวัดนครราชสีมา, มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา และ สมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรจังหวัดนครราชสีมา” ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์พิจารณาอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา กับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมือง โดยมีข้อความว่า
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/13-1024x588.png)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/12-1024x639.png)
“เนื่องด้วยสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ (ชื่อสามัญ หัวรถไฟ หรือ หัวรถฯ) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เดิมชื่อสถานีโคราช เป็นสถานีรถไฟสายแรกของประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสถานีรถไฟแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัดนครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปีพ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จประพาสเยี่ยมพสกนิกร ณ สถานีรถไฟแห่งนี้เช่นกัน
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320537279_713412519992888_5573160848231003165_n-1024x683.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320490830_682675230079243_7408386744358247506_n-1024x683.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320429564_905756300449961_2323943057574385166_n-1024x683.jpg)
ปัจจุบัน “สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา” มีอายุยาวนานมากกว่า 123 ปี ตัวอาคารยังทรงคุณค่าทางเอกลักษณ์สถาปัตยกรรม เป็นอาคารที่เปลี่ยนแปลงหมุดหมายทางสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ มีความผูกพันกับชาวนครราชสีมา และชาวอีสานเป็นอย่างมาก
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320325045_547803157315202_1724218130731235469_n-1024x683.jpg)
13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา เล็งเห็นว่า “ควรมีการอนุรักษ์สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมาไว้เช่นเดิม ก่อนที่จะมีการปรับปรุง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ในอนาคต” จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านในการหาแนวทางอนุรักษ์รักษาอาคารสถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครราชสีมาสืบไป”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2023/04/Screenshot-2023-04-03-185301.png)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2023/04/339437792_728334892350516_4660106907371969405_n-1024x768.jpg)
นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เปิดเผยว่า “ปีนี้สถานีรถไฟโคราช ตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา จะมีอายุครบ 123 ปี ซึ่งที่นี่เป็นตำนานสถานีรถไฟคู่เมืองโคราช หากย้อนอดีต “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” เสด็จเปิดเดินรถจากกรุงเทพฯ ถึงสถานีนครราชสีมา และทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เมืองโคราช ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ร.ศ 119 หรือ พ.ศ.2443 ซึ่งปี 2566 จะครบรอบ 123 ปี”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320488298_455019163491968_9188138421625443043_n-1024x683.jpg)
“และประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานีรถไฟโคราช” ได้รับความเสียหายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่เปิดใช้งาน พ.ศ.2498 และในปีเดียวกัน “ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี” ทรงประทับรถไฟพระที่นั่งลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสาน”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320608053_674649097436526_6487172345200118902_n-1024x683.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320324723_711174517235700_1295067915840325549_n-1024x683.jpg)
นายวีรพล กล่าวอีกว่า “ทางเราได้ทราบข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมทุบถอนอาคารสถานีรถไฟเก่า เพื่อก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟใหม่ตามแบบสูง 3 ชั้น เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งมีกำหนดเริ่มทุบเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากทางกลุ่มเราได้ร่วมกันจัดงาน “รำลึก 122 ปี สถานีรถไฟโคราช” เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว”
“ตามแบบสถานีใหม่ตัวอาคารสถานีจะอยู่ตรงซุปเปอร์มาร์เก็ตไฟว์สตาร์มาร์โค ที่ทุบไปแล้ว ส่วนอาคารสถานีเก่าจะทุบเพราะพื้นที่ทับรางรถไฟที่จะสร้างใหม่ ทำให้เราคิดว่าน่าจะอนุรักษ์ไว้โดยเลื่อนรางรถไฟออกไป 20 เมตร ไม่ต้องรื้อสถานีเก่าได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ได้ชวนองค์กรต่างๆในโคราชร่วมกันทำหนังสือถึง รฟท.และหัวหน้าพรรคการเมืองด้วย”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/54210510_2148572725221355_6697406593601896448_o-2-1024x577.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/54230677_2148572581888036_460256254581800960_o-2-1024x577.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2022/12/320235386_649440073320750_307989586008704419_n-1024x683.jpg)
“เราขอยืนยันว่าไม่ได้คัดค้าน หรือชะลอการสร้างสถานีใหม่ให้ช้า เราไม่ได้ถ่วงความเจริญเพียงแต่อยากให้การรถไฟช่วยอนุรักษ์สถานีเก่าที่มีความทรงจำมากมายให้อยู่คู่เมืองโคราช ควบคู่กับสถานีแห่งใหม่ไม่ได้ขัดขวางที่จะทำโปรเจ็กต์นี้ แต่หากทาง รฟท.จะไม่ทำตาม เราก็ไม่ไปคัดค้านหรือต่อต้านอะไรได้ แต่ก็ยังหวังว่าจะเป็นไปได้” นายวีรพล กล่าว
1 Comments
กรรมมุนา
อาคารหลังเดิมก็รู้อยู่ว่าถูกระเบิดไปแล้ว ยังอ้าง 123 ปีอยู่อีก แล้วทั้งการรถไฟที่อายุ 123 ปี ก็ควรอนุรักษ์ไว้ทั้งประเทศ ไม่ต้องมีทางคู่ ไม่ต้องมีความเร็วสูง
ร่วงกายเรา อายุผ่านไป ก็เปลี่ยนแปลงไป ระลึกถึงความหลังได้ แต่จะรักษาสังขารไว้ได้หรือ?