ข่าวกรณี “มันเทศญี่ปุ่น” โดยดำเนินการเป็นเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งจะมีผู้นำเพาะปลูกได้เปอร์เซ็นต์จากลูกทีม เป็นลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ และเป็นการฉ้อโกงประชาชน จนทำให้ชาวบ้านกว่า 200 คนหลงเชื่อ และได้รับความเสียหายรวมกันไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท บริษัทรับซื้อยอดมันเทศญี่ปุ่นเข้าชี้แจงต่อจังหวัดฯแล้ว ยันดำเนินงานถูกต้องชัดเจนทุกอย่าง ด้านเกษตรกรกว่า 60 คน เข้าร้องผู้ว่าโคราชให้บริษัทฯรีบเข้ามาเจรจา เพื่อจ่ายค่าตอบแทนโดยเร็วที่สุด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 61 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายภานุพงค์ คงเจริญถิ่น ประธานกรรมการบริษัท พี.พี.เท็นกรุ๊ป จำกัด อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนางสาวพบพร พิภพโยพิณกุล ผู้จัดการบริษัทฯ และนายธนกฤต ผันสำโรง วิทยากรให้ความรู้แก่เกษตรกรของบริษัทฯ ได้เข้าพบนางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.นครราชสีมา และพล.ต.อนุสรณ์ นุตสถิตย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.นครราชสีมา ฝ่ายทหาร เพื่อชี้แจงกรณีถูกเกษตรกรหลายรายกล่าวอ้างว่าหลอกลวงให้ปลูกมันเทศญี่ปุ่นและไม่จ่ายค่าตอบแทน อีกทั้งมีความประสงค์ที่จะเจรจากับเกษตรกรทุกราย

และเมื่อเวลา 10.00 น. เกษตรกรผู้ปลูกมันเทศญี่ปุ่นจำนวนกว่า 60 คน ได้เข้าร้องเรียนต่อ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเร่งรัดให้มีการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวและเรียกร้องให้บริษัทฯ เข้าเจรจากับเกษตรกร เพื่อให้จ่ายค่าตอบแทนที่เกษตรกรควรจะได้รับโดยเร็วที่สุด โดยมีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ,พล.ต.อนุสรณ์ นุตสถิตย์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.นครราชสีมา ฝ่ายทหาร และนางสาวปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.นครราชสีมา ร่วมหารือและให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรผู้ได้รับความเสียหาย

จากกรณีถูกบริษัทพี.พี.เท็นกรุ๊ป จำกัด อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา หลอกลวงให้เกษตรกรลงทุนปลูกมันเทศญี่ปุ่น แล้วสัญญาว่าจะรับซื้อยอดมันที่ตัดส่งให้กับบริษัททุกยอด ในราคายอดละ 4.50 บาท โดยดำเนินการเป็นเครือข่ายเกษตรกร ซึ่งจะมีผู้นำเพาะปลูกได้เปอร์เซ็นต์จากลูกทีม เป็นลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่ และเป็นการฉ้อโกงประชาชน จนทำให้ชาวบ้านกว่า 200 คนหลงเชื่อ และได้รับความเสียหายรวมกันไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท โดยเป็นเกษตรกรในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบไปด้วย นครราชสีมา, พิษณุโลก,ชัยภูมิ, ลพบุรี, ขอนแก่น, สระแก้ว, นครสวรรค์, สุพรรณบุรี, เพชรบูรณ์, ปราจีนบุรี, พิจิตร และร้อยเอ็ด

ด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “วันนี้เกษตรกรที่ประสบปัญหากรณีดังกล่าวได้เดินทางมาเข้าพบและร่วมหารือแล้วกว่า 60 ราย ซึ่งจะมีการรวมรวบเอกสารความเสียหายและจะใช้พรบ.ของการฉ้อโกง และพรบ.กู้ยืมเงินนอกระบบ เรียกเอกสารจากบริษัทฯ มาเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย โดยเกษตรกรส่วนหนึ่งได้มีการแจ้งความไว้แล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และเพื่อเป็นการเร่งรัดก็จะใช้พรบ.ดังกล่าวมาทำให้ดำเนินงานได้รวดเร็วขึ้น”

“ทั้งนี้ทางบริษัทพี.พี.เท็นกรุ๊ป จำกัด ได้พยายามเข้ามาชี้แจงว่า บริษัทฯมีการทำงานเป็นกระบวนการและมีหลักฐานในการดำเนินงานถูกต้องชัดเจนทุกอย่าง ซึ่งทางจังหวัดฯ เองได้แจ้งต่อบริษัทฯ ว่าขออนุญาตพูดคุยกับเกษตรกรก่อน และหากบริษัทฯ มีความบริสุทธิ์ใจต้องพร้อมที่จะเจรจากับเกษตรกรทุกราย”

ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าวอีกว่า “ทางบริษัทฯ จึงชี้แจงต่อว่า ไม่สามารถเจรจากับเกษตรกรทั้งหมดได้ในครั้งเดียว ทางจังหวัดฯ จึงเสนอให้มีการจัดพูดคุยเจรจากันกับเกษตรกรในความเสียหายระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หรือระดับหมู่บ้านได้ เบื้องต้นจากหลักฐานของเกษตรกรผู้ได้รับความเดือนร้อน คาดว่ามีความผิดปกติ ไม่ใช่เป็นการค้าขายอย่างตรงไปตรงมา มีหลายจุดที่มีความน่าสงสัย และต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

“ในเรื่องของการเจรจาจะต้องเป็นหน้าที่ของทางบริษัทฯ เรียกร้องและขอเข้ามาเพื่อเจรจา แต่ในขณะนี้ต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ว่าบริษัทฯ กระทำการอย่างที่เกษตรกรได้มีการร้องเรียนหรือไม่ และยอดมันเทศญี่ปุ่นเหล่านี้มีการรับซื้อจากเกษตรกรแล้วนำไปที่ไหน อีกทั้งมันเทศญี่ปุ่นที่เกษตรกรส่งขายให้กับทางบริษัทฯ มีคู่สัญญาที่จะวางจำหน่ายที่ใดบ้าง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป” ผู้ว่าฯโคราชกล่าว

ด้าน นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตอนนี้มีผู้เสียหายจากกรณีมันเทศญี่ปุ่นแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ใช้อำนาจตามมาตรา 7 พระราชกําหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งสามารถที่จะเรียกบริษัทดังกล่าวมาชี้แจง ว่าดำเนินธุรกิจอะไรที่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ประชาชนได้ และหากมีการตรวจสอบแล้วว่าบริษัทฯ ไม่มีที่รับซื้อผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรหรือที่รับซื้อเพิ่งมีการจดตั้งขึ้นมาและเพิ่งมีการทำสัญญากันขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวงเกษตรกร”

“อีกทั้งเมื่อบริษัทฯ รับเงินจากเกษตรกรไปแล้วนั้นได้มีการจ่ายให้กับกรมสรรพากรหรือไม่ หากไม่มีการจ่ายก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง ทั้งนี้ในส่วนของการกู้เงินทั้งนอกและในระบบของเกษตรกรเพื่อนำมาทำการเกษตรในครั้งนี้ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครราชสีมาและสำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พื้นที่ 2 จะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องค่าเสียหาย ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับสถาบันการเงินอีกด้วย ว่าหากเกษตรกรเป็นหนี้ธกส.จะมีการผ่อนชำระได้หรือไม่ มีแหล่งเงินกู้ไหนที่ได้ดอกเบี้ยต่ำกว่านี้หรือไม่ หากเป็นหนี้นอกระบบก็จะมีการเรียกเจ้าหนี้มาหาทางออกร่วมกัน”

“ซึ่งการกู้เงินนอกระบบนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็จะมีมาตรการที่จะผ่อนผันเยียวยากันอย่างไรบ้างเพื่อให้เกษตรกรที่เดือดร้อนได้รับความดูแลมากขึ้น ซึ่งถ้าขณะนี้บริษัทดังกล่าวยังเปิดทำการอยู่ จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะจะต้องเป็นการหลอกลวงเกษตรกรกลุ่มใหม่ ในการที่จะนำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายกลุ่มแรก จึงอยากจะเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อกลอุบายรูปแบบนี้เด็ดขาด ว่ามีการรับซื้อยอดมันเทศญี่ปุ่นแบบไม่อั้น ให้รีบแจ้งความหรือติดต่อศูนย์ดำรงธรรม เพื่อที่จะหามาตรการในการช่วยเหลือหรือประสานมายังสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการช่วยเหลือผู้เสียหายฟรีไม่คิดค่าใช้จ่าย” นายสามารถ กล่าว