ปธ.หอการค้าโคราช “ชัชวาล วงศ์จร” พบผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย เตรียมนำทีมเจรจาปิดดีล“บางกอกแอร์เวย์”เปิดสายการบินแทน “นิวเจน แอร์เวย์ส” ในวันที่ 20 เมษายนนี้ มาหรือไม่รู้เรื่องยืนยันไม่เคยคุยกันเลย ครั้งนี้กล้าการันตี 50 ที่นั่งต่อไฟล์ทเพราะเป็นเครื่องบินART ขนาด 70 ที่นั่งเหมาะกับการบินเส้นทาง“โคราช-เชียงใหม่”

หลังจากสายการบิน“นิวเจน แอร์เวย์ส” มาเปิดเส้นทางบิน“โคราช-เชียงใหม่ และภูเก็ต” เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2560 และหลังจากนั้น “นิวเจน” ได้ยกเลิกเส้นทาง“โคราช-ภูเก็ต” เหลือเพียง“โคราช-เชียงใหม่” และได้เพิ่มเส้นทาง“โคราช-ดอนเมือง”ช่วงปีใหม่มาแทน จนกระทั่งถึงเดือนเมษายนทาง“นิวเจน”ได้ประกาศยุติการบินในวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดวันเดียวกัน นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา ได้เข้าพบ ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย เพื่อแจ้งข่าวการนัดพบผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์” ในวันที่ 20 เม.ย.เพื่อเจรจาข้อตกลงที่จะให้“บางกอกแอร์เวย์”มาเปิดเส้นทางการบิน“โคราช-เชียงใหม่”

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “วันนี้เรื่องสายการบินใหม่ที่จะมาเปิดเที่ยวบินที่โคราชแทน สายการบิน “นิวเจน แอร์เวย์ส” ที่ยุติไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.โดยจะยังใช้ ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือสนามบินหนองเต็ง อ.เฉลิมพระเกียรติ เหมือนเดิม ส่วนข่าวที่ออกไปทางสื่อโซเชียลว่าเป็น “บางกอก แอร์เวย์” นั้นเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทางตนต้องไปเจรจาตกลงกันก่อน เพราะยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว”

“ส่วนเรื่องที่เคยมีข่าวเมื่อปีที่แล้วว่า “บางกอก แอร์เวย์” พร้อมเปิดบินโคราชเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา (BKK-NAK) และขอผู้ใหญ่ในโคราชช่วยประสานในการขอใช้กองบิน 1 ในการเปิดให้บริการนั้นตนไม่ทราบเรื่องเพราะ ตามความจริงเรื่องนี้ยังไม่เกี่ยวกับหอการค้าฯ และการที่จะมาใช้สนามบินของกองบิน1 นั้นเป็นไปไม่ได้”

“สำหรับหอการค้าฯเรามีสถิติของผู้โดยสารที่มาใช้บริการของ “นิวเจน” ตั้งแต่เปิดเที่ยวบินมากว่า 4 เดือนว่ามีจำนวนพอกับสายการบินที่ใช้เครื่องบิน ART ขนาด 70 ที่นั่งเพราะต่อเที่ยวบินเส้นทางโคราช-เชียงใหม่ อยู่ประมาณ 70-80 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจริงที่เราจะต้องไปเสนอกับสายการบิน“บางกอก แอร์เวย์” ที่ได้นัดคุยกับ ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ แต่หอการค้าฯมองว่า เราควรไปหาเขามากกว่าเพราะเขาเคยนัดมาคุย 2 ครั้งแล้วแต่ไม่มา ก็เลยนัดคุยกันโดยหอการค้าฯจะไปเจรจาเองให้รู้เรื่องไปเลยไม่มาก็จบ”

นายชัชวาล กล่าวอีกว่า “ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ตนในนามหอการค้าฯ พร้อมด้วย นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา และนายประวัติ ดวงกันยา ผอ.สนามบินนครราชสีมา จะเดินทางไปพบกับผู้บริหารบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในนามสายการบิน BANGKOK AIRWAYS โดยจะนำข้อมูลทุกอย่างไปให้เขาดูทั้งหมด และทางสายการบินต้องการอะไร เพราะเรารอไม่ได้เรื่องสายการบินต้องสรุปให้เร็วที่สุด”

“หากการเจรจาในวันที่ 20 เม.ย.นี้ได้ข้อสรุปว่ามาบินเราก็จะการันตีให้เลย 50 ที่นั่งต่อเที่ยว เรามั่นใจผู้โดยสารต้องเกิน 50 ที่นั่ง โดยเริ่มต้นหาก“บางกอก แอร์เวย์” ตกลงก็จะเปิดบินเส้นทางแรกคือ “โคราช-เชียงใหม่” เท่านั้นโดยบิน 3 วันคือ วันศุกร์ อาทิตย์และพุธ เพื่อให้มีคนบินทั้งไปและกลับ ส่วนอีก 3 เดือนก็จะเพิ่มเที่ยวบินไปภูเก็ต เพราะต้องใช้เวลาในการทำตลาดพอสมควร ซึ่งหอการค้าฯจะลงไปทำการตลาดเองทั้งหมด”

“สำหรับเส้นทาง“โคราช-ดอนเมือง” ต้องดูสลอทเวลาบินที่เหมาะสมจริงๆ โดยหอการค้าฯจะขอผู้ว่าฯตั้งคณะทำงานอย่างจริงจังในเรื่องสายการบินครั้งนี้ ถ้าการเจรจาวันที่ 20 เม.ย.นี้กับ“บางกอก แอร์เวย์”ไม่จบเราก็จะไปคุยกับสายการบินอีก 2 แห่งที่ได้คุยกันเบื้องต้นไว้ เพราะโคราชจะไม่มีสายการบินไม่ได้ ซึ่งยังไงเราต้องมีสายการบินไม่เกินเดือนมิถุนายนนี้อย่างช้า” ปธ.หอฯโคราช กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายประวัติ ดวงกันยา ผอ.สนามบินนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาต้องยอมรับข้อเท็จจริงสายการบินนิวเจน อาจไม่พร้อมเรื่องการตลาดและไม่มีกิจกรรมสร้างแรงจูงใจ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่เน้นเฉพาะใน จ.นครราชสีมา ที่ จ.เชียงใหม่ จ.ภูเก็ต และ กรุงเทพฯ แทบไม่มีเลย จึงมีลูกค้าไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้โดยสารจาก จ.นครราชสีมา ไปและกลับเท่านั้น”

“สังเกตได้จากเที่ยวบินขาออกจะมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าขาเข้าชัดเจน บางวันถ้าไม่มีเที่ยวบินออฟฟิศนิวเจนฯในท่าอากาศยานก็ปิด เมื่อผู้โดยสารวอร์คอินมาซื้อตั๋ว ก็ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งผู้โดยสารกลุ่มนี้ ไม่สะดวกในการเดินทางเข้าตัวเมืองและสั่งจองผ่านทางออนไลน์ บางวันมีนับสิบคนที่พลาดโอกาสใช้บริการ ตนก็พยายามประสานมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ภาพรวมหากเป็นเที่ยวบินตรงกับวันหยุด เฉลี่ยมีจำนวนเกิน 100 คน และผลประกอบการมีแนวโน้มเริ่มดีขึ้นตามลำดับ เมื่อนิวเจนฯ ประกาศหยุดบินอย่างเป็นทางการ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ผู้โดยสารขาดความเชื่อมั่นจึงมีจำนวนลดลง”

“ตนขอยืนยันสนามบินแห่งนี้มีศักยภาพทั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกปลอดภัยและขนาดพื้นที่ของรันเวย์ รวมทั้งที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา ประมาณ 25 กิโลเมตร ถือมีความพร้อมเป็นลำดับต้นๆของประเทศ ประมาณช่วงกลางปีนี้ จะมีการประชุม หารือกับทุกภาคส่วน เพื่อประสานสายการบินโลว์คอส มาให้บริการในเส้นทางนครราชสีมา-เชียงใหม่ นครราชสีมา-ภูเก็ต และ นครราชสีมา-ดอนเมือง ใช้เครื่องบิน ขนาด 65-100 ที่นั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร  และจะสามารถตอบโจทย์การเดินทางด้วยเครื่องบินได้ถูกต้อง” ผอ.สนามบินนครราชสีมา กล่าว