เปิดพิมพ์เขียว “สมยศ รัตนปริยานุช” นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี รอโปรเจ็กต์นี้มากว่า 10 ปี แผนพัฒนาที่ดินและแหล่งท่องเที่ยว “อ่างห้วยยาง” ให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่โคราช สร้างโลเกชั่นเป็นหาดริมอ่างห้วยยาง พลิกโฉมจัดระบบค้าขายใหม่ เปลี่ยนหาบเร่มาใส่ชุดมอฮ่อมหรือโจงกระเบน มีลานออกกำลังกาย  จัดแข่งวอลเลย์บอลชายหาด และถนนคนเดิน สร้างสตอรี่ใหม่ งบกองทัพภาคที่2 ทุ่มกว่า 30 ล้านบาท ล่าสุดรอความชัดเจน กรมชลประทาน และกรมประมง คืนพื้นที่บางส่วนให้กรมธนารักษ์ เพื่อเปิดช่องให้เทศบาลขอใช้พัฒนาพื้นที่ภายในปี 61

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2561 พลโทสนธยา ศรีเจริญ แม่ทัพน้อยที่ 2 กองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย นายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี พร้อมหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญชาวบ้านเขตพื้นที่และโดยรอบ “อ่างห้วยยาง” ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อประชาพิจารณ์ทำความเข้าใจเรื่องนโยบายการปรับปรุงอ่างห้วยยาง โดยงานหลักดำเนินการโดยกองทัพภาคที่ 2

นายสมยศ รัตนปริยานุช นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี เปิดเผยว่า “จากภาพเรนเดอร์อ่างห้วยยาง ที่ดีไซน์ไว้ เราจะทำเป็นขั้นบันไดขึ้นมา ขั้นบันไดตรงนี้จะเอาทรายสีขาวมาใส่  และกำลังมองว่าจะทำสนามวอลเลย์บอลชายหาดด้วย เพื่อให้กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ได้มาแข่งขันกัน และหลังจากจบการแข่งขันไม่ได้ใช้ก็เอาผ้าใบมาปิดแล้วเก็บไว้ไม่ให้ใครลงไปพื้นที่สนาม”

“เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว ปลายปีและต้นปี ซึ่งเป็นช่วงจัดแข่งวอลเลย์บอลชายหาด ก็จัดการแข่งขันสัก 2ไฟท์ต่อปีก็พอ โปรเจ็กต์นี้ถือว่าเป็นโครงการหนึ่งที่มันแปลก แล้วคนก็อยากเห็นอยากดู มีลานเดินออกกำลังกาย 330 เมตร/รอบ พร้อมเครื่องเล่นตามจุดต่างๆไว้หมุนแขนไว้เตะขา เพราะไปดูที่จ.กระบี่มา เขาทำสวยมาก บรรยากาศปลูกต้นมะพร้าวเต็มไปหมด มีเตียงผ้าใบวางรอบๆแนวอ่างน้ำ เป็น 2 ชั้นประมาณ 200 เตียง คิดราคาเตียงละ 100 บาท ตนมองว่าถ้าเป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เตียงจะเต็มหมด 200 เตียงแน่นอนแค่นี้ก็ได้ 40,000 บาทแล้ว มีโต๊ะกลางพร้อมร่มเก้าอี้นั่ง 4 ตัว ร่มก็หาสปอนเซอร์มาเขาพร้อมสนับสนุนอยู่แล้วเช่นกัน”

นายสมยศ กล่าวอีกว่า “หรือถ้าหากไม่มีสปอนเซอร์สนใจ บ้านรุ่งนิรันดร์ของตนเป็นเองก็ได้ไม่มีปัญหา  และสำหรับผู้สูงอายุก็จัดสรรไปคนละกี่เตียงๆก็ว่าไป ถ้าเกินก็หมุนเวียนกันไป ถ้าอยากได้ตลอดทั้งปีก็ดูว่าปีนึงได้กี่วัน ก็หมุนเวียนเฉลี่ยตามชมรมผู้สูงอายุมา แค่นี้ก็มีรายได้เกิดขึ้นกับคนท้องถิ่นแล้ว พร้อมจัดสรรให้เด็กนักเรียนด้วย”

“สมยศ รัตนปริยานุช”นายกเทศมนตรีตำบลสุรนารี

“ส่วนเรื่องห้องน้ำก็ให้ชาวบ้านผู้สูงอายุผลัดกันไปดูแล ค่าเข้าใช้ห้องน้ำครั้งละ 5 บาท ก็เก็บไปเป็นผลประโยชน์ แต่ก็ต้องดูแลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เรื่องความสะอาดของห้องน้ำ เรื่องอาหารก็ว่าไป แต่ต้องจัดการให้เป็นระบบทั้งหมด ก็อยากทำให้คนมาเที่ยวที่นี่ได้ความรู้สึกเหมือนกับไปบางแสน และอาจจะใช้ชื่อเรียกใหม่เป็น “บางแสน สนธยา” ก็ได้เพราะเป็นคนออกงบประมาณทำทั้งหมด”

“สำหรับกลุ่มชาวบ้านหาบเร่ ก็ให้เข้ามาขายในพื้นที่อ่างได้แต่ต้องใส่ชุดฟอร์ม จะเป็นชุดมอฮ่อม หรือโจงกระเบนก็ได้ เพราะเราต้องสร้างเป็นสตอรี่ให้ได้  กลุ่มเป้เหมายมีทั้งนักศึกษาจาก มทส. 20,000 กว่าคน หรือประชาชนทั่วไปก็จะมาเที่ยวมาใช้บริการตรงนี้ ต่อไปร้านเฉาก๊วยก็จะรื้อ มีร้านค้าร้านอาหารก็ให้ลูกค้าดูแค่เมนูจะกินอะไรสั่งอาหารแล้วก็มาเสิร์ฟเหมือนที่บางแสน”

นายสมยศ กล่าวต่อว่า “และที่สำคัญทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบเรื่องขยะและความสะอาดทุกพื้นที่บนหาดให้ดูสวยงามตลอดเวลาทุกวันด้วย ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสุรนารีหรือแม้แต่แม่ค้าพ่อค้าทุกคนก็ต้องใส่ชุดฟอร์ม ต่อไปเวลามีกิจกรรมอะไร เขาก็จะมาใช้บริการที่นี่มาพักผ่อน ออกกำลังกาย เดินเล่น นอนเล่นริมหาดกินอาหารบรรยากาศริมหาดแวดล้อมด้วยต้นมะพร้าวทั้งสวยทั้งสะอาดเขาก็มา”

“ต่อไปที่นี่จะเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของโคราช หากโปรโมทออกไป คนต่างจังหวัดก็อยากมาที่นี่เหมือนไปบางแสน ตามถนนในโครงการก็จะทำให้เป็นสวนเกษตรเรียนรู้ มีผักต่างๆของท้องถิ่นเช่น ผักกูด ผักกระถิน กระเพราบ้าน ให้ทาง มทส.ไปรับผักมาแล้วก็เอามาขาย ส่วนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เปิดเป็นถนนคนเดิน แต่ต้องได้มาตราฐาน อย่าทุบหม้อข้าวตัวเองแล้วมันจะยั่งยืน นี่เป็นแนวทางที่เราวางไว้หมดแล้วเหลืออย่างเดียวคือเป็นโปรเจ็กต์ที่เราอยากทำมานานกว่า 10 ปีที่เรารอทำโครงการตรงนี้”

“ถือว่าเป็นความโชคดีที่ท่านแม่ทัพภาคที่2 ให้ความสนใจโปรเจ็กต์นี้ ตนก็เอาแบบโครงการนี้ไปเสนอ ตั้งงบประมาณไว้ 30 ล้านบาท หลังจากนั้นก็จะเป็นงบของเทศบาลตำบลสุรนารี ต่อไปก็จะมาสร้างศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) มีป้อมยามเพื่อคอยดูแลด้านความปลอดภัย ส่วนแสงสว่างในโครงการไฟก็ใช้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าต้นทุนจะสูงแต่คุ้ม”

“นอกจากนี้บริเวณตามเสาไฟ ตั้งเวลาปิด-เปิดเป็นเวลา คือปิด 4 ทุ่มก็ต้องเคลียร์คนให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด ดับไฟแล้วให้ อปพร.เดินเวรยามเพราะไม่ใช่เรื่องของสถานที่อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน รวมถึงเรื่องอาหาร และความสะอาด ต้องควบคุมให้อยู่ในกฎมาตรฐานทั้งหมดด้วย” นายสมยศ กล่าวทิ้งท้าย.