“นักวิจัย มทส.” สุดเจ๋ง! ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงประดิษฐ์ “SURASOLE แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า” เพื่อช่วยทางการแพทย์ ด้านกายภาพบำบัด ส่งข้อมูลผ่านมือถือ-คอมฯ เผยราคาถูกกว่าต่างประเทศ จากหลักล้านเป็นหลักหมื่น จับมือสตาร์ทอัพผลิตขายให้คนทั่วไปใช้ในราคาถูก

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.61 ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้มีพิธีการร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในเทคโนโลยี “SuraSole แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า” ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีฯ และบริษัท สุรเทค จำกัด โดยนายกล้า จิระสานต์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล ท่ามกลางนักวิจัย และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก

สำหรับพิธีร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี “SURASOLE แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า” นี้ เป็นการต่อยอดงานวิจัยใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อช่วยทางการแพทย์ ด้านกายภาพบำบัด และผู้ทำกายภาพบำบัดที่มีปัญหาด้านข้อเข่า ด้วยวิธีส่งผ่านข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์  ทั้งยังประยุกต์ใช้ได้กับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “จากนโยบายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ (Country Policy Alignment) ที่มุ่งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น โดยเน้นการทำวิจัยในลักษณะองค์รวม (Total Solution Approach) ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ชุมชนและสังคม”

“โดยทีมวิจัยจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เรื่อง “SuraSole แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า” เป็นการทำงานร่วมระหว่างสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ มทส.โดยมี รศ.ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ สาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก เป็นหัวหน้าทีม ผศ.ดร.วิภาวี หัตถกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม และ นพ.พรเทพ ตั้งกาญจนาเวฬุกุล สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ และนักศึกษาผู้ช่วยวิจัย ได้สร้างรูปแบบงานวิจัยที่บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายศาสตร์ ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ และสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้วนั้น ถือเป็นผลสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ industrial linkages ที่ตอบโจทย์สังคมตามนโยบายของมหาวิทยาลัยและวิสัยทัศน์ SUT Re-Profile 2020”

อธิการบดี มทส. กล่าวอีกว่า “ดังนั้นการลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและดำเนินการในเทคโนโลยี “SuraSole แผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยข้อเข่า” ให้แก่ บริษัท สุรเทค จำกัด ครั้งนี้ เป็นที่น่าภูมิใจคือ เป็นการส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการซึ่งเป็น Start up รุ่นใหม่ ที่เล็งเห็นคุณค่าในเทคโนโลยีนี้นำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม”

“ซึ่งอยู่ภายใต้ “โครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล” โดยเทคโนธานี มทส. ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล มีระยะเวลาตามสัญญา 5 ปี ทั้งนี้ทีมนักวิจัยจะถ่ายทอดข้อมูลทางเทคนิค  มีการจัดทำคู่มือวิธีการผลิต เพื่อให้ผู้รับอนุญาตสามารถทำการผลิตและจำหน่ายได้  โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีความพร้อมในด้านโรงงานผลิตชิ้นงานจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป” อธิการบดี มทส. กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า “สำหรับ Surasole เป็นแผ่นพื้นรองเท้าอัจฉริยะ ซึ่งสร้างจากเทคโนโลยี Wearable sensor และ Internet of Things ที่ปัจจุบันโรงพยาบาลชั้นนำสั่งเข้ามาในราคาหลักล้านบาท แต่ในห้องแลบ มทส.สามารถผลิตได้ในราคาหลักหมื่น โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในประเทศ 100% จึงลดการนำเข้าและประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก เป็นการออกแบบมาเพื่อช่วยให้แพทย์ นักกายภาพบำบัด และผู้ป่วยที่ทำกายภาพบำบัดด้านการเดินการทรงตัว สามารถติดตามดูพัฒนาการของการทำกายภาพบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล ช่วยทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย”

“ทั้งนี้ SuraSole สามารถส่งข้อมูลการฝึกการทรงตัว ลักษณะการเดิน ผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ไปยังโรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์   นอกจากนั้น ยังสามารถส่งข้อมูลเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นในกรณีที่ผู้ใช้ Surasole หกล้ม ซึ่งเหมาะกับการประยุกต์ใช้สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพังอีกด้วย”

ทางด้าน นายกล้า จิระสานต์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล บริษัท สุรเทค จำกัด เปิดเผยว่า “จากประสบการณ์พื้นฐานความรู้ทางวิศวะ และบริหารจัดการ จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวได้เล็งเห็นถึงแนวทางในการที่จะต่อยอดในภาคธุรกิจ สู่ตลาดผู้บริโภคได้”

“ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาชิ้นงานแผ่นพื้นอัจฉริยะได้ภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นอย่างน้อย แต่จะควบคู่ไปกับการศึกษาพัฒนาชิ้นงานที่สามารถใช้กับรองเท้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้ากีฬา รองเท้าเพื่อสุขภาพ  เป็นต้น เพื่อเทคโนโลยีที่เรามีตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งบริษัทก็จะต้องมีการศึกษาตลาดเพิ่มเติมเพื่อให้มีประสิทธิ์ภาพยิ่งขึ้นต่อไป”