นักวิจัยค้นพบฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก อายุ 115 ล้านปี ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาภัทราชัน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” พร้อมพบ “ฟอสซิลมะพอกพันธุ์ใหม่ และสนห้าใบ” ในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ที่บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง ครั้งแรกของประเทศไทย สู่การรับรองเป็น “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก”
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่โคราชฮอลล์ “เซ็นทรัลโคราช” นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อม ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี , นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา , Prof. Dr.Nikolaos Zouros ประธานเครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (GGN) และคณะนักวิจัยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีธรรมชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและโคราชจีโอพาร์ค ร่วมแถลงการค้นพบ ฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่ของโลก, มะพอกพันธุ์ใหม่, สนห้าใบ ครั้งแรกของประเทศไทย สร้างความปลื้มใจ ให้กับชาวโคราชและคนไทย เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 555 ปี จังหวัดนครราชสีมา และการได้รับพิจารณาเป็น จีโอพาร์คโลก Khorat Global Geopark “โคราช เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” Triple Heritage City”
ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า “คณะนักวิจับได้ค้นพบ ฟอสซิลปลาอายุ 115 ล้านปี พันธุ์ใหม่ของโลก ในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ที่บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน วิจัยดำเนินการโดย ผศ.ดร.อุทุมพร ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น , มหาวิทยาลัยเจนีวา และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Diversity เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา”
“ผลการวิจัยฟอสซิลปลาดังกล่าว เป็นปลากระดูกแข็งก้านครีบอ่อน คล้ายสกุลเอเมีย (Amia) แต่เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก คณะวิจัยได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาภัทราชัน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน (Khoratamia phattharajani)”
“เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลาและรักปลา ทั้งมีสายพระเนตรยาวไกล เช่น การทรงขอพันธุ์ปลานิล จากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว มาขยายพันธุ์ในพระราชวังนับหมื่นตัว และมอบให้กรมประมง นำไปขยายพันธุ์ต่อ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน นำไปเลี้ยงเพื่อขายและบริโภคจนสามารถแก้ปัญหา การขาดแคลนโปรตีนของประชาชนไทยได้ ทั้งนี้คำว่า “ภัทราชัน” มาจากคำว่า “ภัทร+ราชัน” อันหมายถึง “พระภัทรมหาราช” ที่ประชาชนถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ 9”
ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวอีกว่า “นอกจากนี้ ยังได้วิจัยพบพืชพันธุ์ใหม่ของโลก 3 ชนิด ได้แก่ มะพอกโคราช หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari khoratensis โดยชื่อชนิด “khoratensis” มาจากจังหวัดนครราชสีมา ที่เป็นแหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ส่วน มะพอกของฮิลล์ หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Parinari hilliana โดยชื่อชนิด “hilliana” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Arthur Hill ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ ที่ศึกษาเรื่องซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้ พบในสมัยไมโอซีนตอนปลาย แหล่งบ่อทรายพระพุทธ ต.พระพุทธ อ.เฉลิมพระเกียรติ”
“การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ทั้งสองชนิดนี้ เป็นการค้นพบผลมะพอก สกุล Parinari เป็นครั้งแรกของเอเชียและคาบสมุทรแปซิฟิก แสดงให้เห็นว่า พืชสกุลนี้ปรากฎในเขตร้อนในสมัยไมโอซีน ก่อนหน้านี้มีการค้นพบแล้วในสมัยไมโอซีนที่แอฟริกา (เขตเอธิโอเปีย) และปานามา (เขตนีโอโทรปิก) ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Acta Palaeobotanica เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65”
“และชนิดที่สามคือ สนห้าใบหนองหญ้าปล้อง หรือ Pinus nongyaplongensis โดยชื่อชนิด “nongyaplongensis” มาจากแอ่งหนองหญ้าปล้อง ที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งอยู่ในสมัยโอลิโกซีนตอนปลาย หรือไมโอซีนตอนต้น แหล่งเหมืองสแกงาม แอ่งหนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี”
“โดยซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว เป็นการค้นพบสนห้าใบ ครั้งแรกของประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พอล.เจ.โกรดิ ร่วมกับ นายพลาเดช ศรีสุข ดำเนินการวิจัยและได้รับการตีพิมพ์ เผยแพร่ในวารสาร Review of Palaeobotany and Palynology เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 64”
ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ โคราชยังได้เปิดเมือง สู่การรับรองเป็น “อุทยานธรณีโลกของยูเนสโก” ในมหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล 2023 และการประชุมทางวิชาการ เครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Sustain Our World” เพื่อเฉลิมฉลองจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการพิจารณาเป็น จีโอพาร์คโลก Khorat Global Geopark จากองค์กรยูเนสโก ถือเป็นการยกระดับการทำงาน เครือข่ายของอุทยานธรณีประเทศไทย”
“การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านจีโอพาร์ค และการท่องเที่ยว Geotourism ตลอดจนการประชาสัมพันธ์จีโอพาร์คประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนากลไก การขับเคลื่อนอุทยานธรณีในประเทศไทย ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ กิจกรรมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8-10 มิ.ย.66นี้”
“ซึ่งโครงการนี้ ได้รับความสนใจตอบรับร่วมงาน จากนักวิจัยทั่วโลก เพื่อนำเสนอ 82 ผลงานวิชาการงานวิจัย ในรูปแบบ Oral Presentation จำนวน 52 ผลงานและแบบ Poster จำนวน 30 ผลงาน โดยมีการจัดนิทรรศการและการแสดงสินค้าชุมชน , นิทรรศการภาคีเครือข่ายจีโอพาร์คประเทศไทย , งานสถาปนาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว