“มทร.อีสาน” สร้าง “ตู้อบฆ่าเชื้อใบปริญญา” พร้อมใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหา’ลัย ครั้งแรกที่โคราช ที่ศูนย์การศึกษา “หนองระเวียง มทร.อีสาน” ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ เตรียมยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว เล็งต่อยอดใช้ตู้อบฆ่าเชื้อสำหรับวัสดุอุปกรณ์อื่นอีกด้วย
“มทร.อีสาน” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กฤตาคม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พัฒนานวัตกรรม และบริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยการพัฒนาในเทคโนโลยีของวัสดุพรุน (Development in Technology of Porous Materials: DiTo-Lab) พร้อมด้วย อาจารย์จัตุพล ป้องกัน อาจารย์ประจำสถาบันระบบรางแห่ง มทร.อีสาน นางสาวญาดาวดี แสงสุข นายณัฐพงษ์ ขอพลอยกลาง และ นางสาวสิรินยากร ฤทธิ์ประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม “ตู้อบฆ่าเชื้อแบบหมุนสำหรับใบปริญญาบัตรด้วยรังสี UVC” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มทร.อีสาน ประจำปีการศึกษา 2562 ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน ในวันที่ 4 มีนาคม ที่จะถึงนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กฤตาคม เปิดเผยว่า “นวัตกรรมตู้อบฆ่าเชื้อแบบหมุนสำหรับใบปริญญาบัตรด้วยรังสี UVC ตนและทีมงานนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยการพัฒนาในเทคโนโลยีของวัสดุพรุน ได้คิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อบฆ่าเชื้อโควิด-19 ในใบปริญญาบัตร ที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องนำไปใช้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรโดยเฉพาะ”
“ซึ่งใบปริญญานี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องมอบให้กับบัณฑิต มหาบัณฑิตที่เข้าร่วมในพิธีทุกคน และเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย นอกจากมาตรการการตรวจคัดกรองผู้เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร การจัดเตรียมสถานที่ต้องมีความปลอดภัยอย่างมากแล้ว ตัวใบปริญญาบัตรนั้นก็จำเป็นต้องปลอดเชื้อเพื่อป้องกันไปพร้อมกันด้วย”
“สำหรับการออกแบบนวัตกรรมตู้อบนี้ ทีมงานผู้จัดทำได้ออกแบบลักษณะตัวเครื่องให้มีขนาดพอเหมาะกับการเคลื่อนย้ายไปใช้งานยังที่ต่างๆ โดยมีขนาด 1.2 ม.x1.2 ม.x2 ม. (กว้างxยาวxสูง) ตัวเครื่องทั้งโครงสร้างและตะแกรงผลิตจากสแตนเลส 304 และปิดรอบด้วยอะคริลิคสีดำ พร้อมบุผนังด้านในด้วยแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์สีเงิน เพื่อเพิ่มการกระจายรังสีและป้องกันรังสีทะลุออกจากภายในสู่ภายนอกตัวเครื่อง”
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า “ซึ่งแผงการทำงานด้านในใช้หลอดไฟยูวีซีในย่านความยาวคลื่น ขนาด 255 นาโนเมตร จำนวน 8 หลอด โดยติดไว้ที่ผนังในเครื่องด้านละ 2 หลอด เพื่อให้สิ่งของภายในตู้อบได้รับรังสีจากทุกด้าน อีกทั้งตะแกรงที่ใช้สำหรับวางใบปริญญาบัตรนั้นถูกออกแบบมาให้สามารถหมุนได้รอบ 360 องศา และสามารถบรรจุใบปริญญาบัตรได้มากถึง 40 ใบ ต่อการฆ่าเชื้อ 1 ครั้ง ด้วยเวลา 60 วินาที”
“จากการทดสอบการใช้งานประสิทธิภาพของการอบฆ่าเชื้อ โดย นายวิเศษ วริศรางกูล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และ นางสาวสมฤดี รัตนสรรค์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา พบว่า การตรวจวัดค่ารังสียูวีซีที่ฉายภายในตู้อบนั้น มีค่าความเข้มของรังสียูวีเฉลี่ยที่ 3.21 วัตต์(กำลังไฟ) ต่อตารางเมตร ซึ่งเมื่อนำค่าความเข้มของรังสีมาคำนวณกับเวลาที่ใช้ในการอบ 60 วินาที จะได้ค่าปริมาณพลังงานของรังสียูวีมากถึง 187.2 จูล(ค่าพลังงาน) ต่อตารางเมตร”
“อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณรังสียูวีซีที่ใช้ทำลายเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์กลุ่มเอเชียจากงานวิจัยหลายแห่งที่กำหนดค่าไว้ คือ 134 จูลต่อตารางเมตรนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่า “นวัตกรรมตู้อบฆ่าเชื้อแบบหมุนสำหรับใบปริญญาบัตรด้วยรังสี UVC เครื่องนี้มีประสิทธิภาพสูงและสามารถใช้งานได้จริง” โดยได้รับการยอมรับและการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา อย่างถูกต้อง”
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวอีกว่า “สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ ตนและทีมงานได้ดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ตนและทีมงานยังได้วางแผนที่จะต่อยอดนวัตกรรมตู้อบนี้ เพื่อใช้อบฆ่าเชื้อโควิด-19 กับวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย”
“ซึ่งหากหน่วยงานใดที่มีความสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานนี้ หรือต้องการนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานสามารถติดต่อได้ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต กฤตาคม โทรศัพท์ 08 4249 4757 หรือประสานมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา โทรศัพท์ 044 233 000 ต่อ 2530 เพื่อติดต่อสถาบันวิจัยและพัฒนา ในวันและเวลาราชการ” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวทิ้งท้าย