คณะสงฆ์ภาค 11 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จัดเวทีขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ โดยตั้งเป้า “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ด้านกระทรวงสาธารณสุขพร้อมหนุนเต็มที่ผ่านกลไกทุกระดับ เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ จับคู่ระหว่างวัดกับโรงพยาบาลในการดูแลรักษาและตรวจสุขภาพ
ที่วัดดอนขวาง ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีการประชุม “ประสานการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ในเขต ภาค 11 (เขตสุขภาพที่ 9)” โดยมีพระธรรมเจดีย์ รักษาการเจ้าคณะภาค 11 เดินทางมาเป็นประธาน พร้อมด้วยพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา ศ. (พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 9 นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 พร้อมคณะสงฆ์ในพื้นที่ภาค 11 และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ เข้าร่วม เพื่อสรุปภาพรวมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ ในเขต 11 ทั้งจากฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส รวมถึงหารือเชื่อมโยงการทำงานของคณะสงฆ์ภาค 11 กับหน่วยงานต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 9 เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการทำงานพัฒนาวัดและชุมชนพื้นที่เป้าหมายทั้งในระดับจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นสู่การบรรลุเป้าหมาย “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” รวมถึงวางแผนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในปี 2562-2564
พระธรรมเจดีย์ รักษาการเจ้าคณะภาค 11 กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม มีเป้าหมาย คือ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะสงฆ์ได้ทำการสำรวจข้อมูลพระสงฆ์เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าถึงสิทธิ คือการสำรวจเลข 13 หลักของพระสงฆ์ให้ครบถ้วน หลายรูปที่บวชนานก็อาจไม่ได้ดูว่าสิทธิของตนอยู่ที่ไหน สำหรับพระที่ไม่รู้ก็ทำให้เกิดความชัดเจน โดยย้ายมาอยู่ทะเบียนบ้านของวัด เพื่อให้เกิดการดูแลสิทธิการรักษาพยาบาล”
“นอกจากนี้ยังจะทำการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลในพื้นที่ เป็นการจับคู่ระหว่างวัดกับโรงพยาบาลในการดูแลรักษาและตรวจสุขภาพ และอีกบทบาทหนึ่งของการสาธารณสงเคราะห์คือการบูรณาการทำให้วัดเป็นพื้นที่สัปปายะสถาน หรือพื้นที่สาธารณะเชิงสุขภาวะของชุมชนและสังคม”
ด้าน ศ. (พิเศษ) ดร.นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “สธ.ให้ความสำคัญกับการดูแลอุปัฎฐากในสุขภาพของพระสงฆ์ว่าเป็นนโยบายสำคัญ โดยมีหนังสือสั่งการไปยังทุกจังหวัดร่วมดำเนินการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์และสายงานของสาธารณสุขจังหวัดขับเคลื่อนผ่านไปยังโรงพยาบาลทุกแห่ง โรงพยาบาลอำเภอทุกแห่ง และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง”
“และที่สำคัญเพื่อให้มีพระ อสว. หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด หรือพระคิลานุปัฏฐาก อย่างน้อย 1 รูปในวัด เพื่อให้ดูแลสุขภาพตัวท่านเองและพระสงฆ์ที่อยู่รอบข้าง ไปถึงระดับตำบล ถึงทุกวัด ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ คาดว่าจะทำไปทุกตำบลหรือทุกวัดทั่วประเทศ นี่คือนโยบายเกี่ยวสุขภาพพระสงฆ์ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ที่เขียนขึ้น โดยยึดเป็นเกณฑ์ไว้และมีความร่วมมือระหว่างพระสงฆ์กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราอย่างดี”
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์แรก คือให้พระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัยได้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ให้ชุมชม สังคม ดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย หมายความว่าสังคมโดยรวมต้องอุปัฏฐากพระ เพราะมีบางอย่างที่พระท่านไม่สามารถทำเองได้ ยุทธศาสตร์ที่ 3 เมื่อพระท่านแข็งแรง ท่านก็จะมีบทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำในการนำพาสังคมไปสู่การมีสุขภาวะ”
“ขณะนี้ กลไกระดับชาติในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ มีอยู่ 5 กลไก โดยจะมีทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ขณะที่อีก 4 คณะย่อยเป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านระบบฐานข้อมูลพระสงฆ์ คณะอนุกรรมการวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านการสื่อสารสาธารณะ คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์และแผน เป็น 5 กลไกที่จะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จใน 10 ปี”