อึ้ง! นักวิจัย มทส.สุดเจ๋งใช้เวลา 1 ทศวรรษ พัฒนานวัตกรรม “ซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก” เป็นผลสำเร็จ เหมาะสำหรับการทำกระดูกที่มีความซับซ้อนของผู้ป่วย เตรียมพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในมนุษย์ ใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ต้นทุนต่ำและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มาก
วันที่ 1 พ.ย.61 ที่ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นประธานในการแถลงข่าวผลงานวิจัยนวัตกรรม “ซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก” ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนานวัตกรรม โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย อาจารย์ พ.ท.นพ.บุระ สินธุภากร หัวหน้าสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ผลงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดทดแทนกระดูก ของนักวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้นด้วยหลักทางวิชาการ และนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเกิดประโยชน์สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ”
“ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการบริหารงานมหาวิทยาลัย ที่ว่า “เราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผสานเข้ากับทางการแพทย์ บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้านกระดูก ผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาด้านกระดูกและตอบโจทก์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสอดรับได้เป็นอย่างดีกับนโยบายสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบโจทก์และแก้ปัญหาของประเทศได้จริง ของมหาวิทยาลัย”
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงผลงานวิจัย “นวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก” ว่า “เป็นงานวิจัยภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้พัฒนาวัสดุทดแทนกระดูกที่มีคุณสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่สามารถขึ้นรูปได้โดยการปั้นหรือการฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็ก โดยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี (พ.ศ. 2552 -2561)”
“ทั้งนี้ “ซีเมนต์กระดูก” ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้มีมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ (Calcium phosphate) สามารถสลายตัวได้ในร่างกาย เซตตัวได้เองในสภาวะปกติของร่างกาย ไม่เกิดความร้อนในขณะเซตตัว สามารถฉีดผ่านเข็มฉีดยาเข้าไปรักษาในบริเวณที่เป็นโพรงหรือบริเวณที่แคบ ช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก โดยการสลายตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ และให้รูพรุนที่เป็นโครงสร้าง (Scaffold) ให้เซลล์กระดูก เลือดและของเหลวในร่างกายเข้าไปภายใน ช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตได้ดี มีความปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต”
รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยส่วนเสริมแรงจากเส้นใยพอลิเมอร์ธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ (Biodegradation) ทำให้เกิดความแข็งแรงเพียงพอในระหว่างที่เนื้อซีเมนต์บางส่วนสลายตัวไป โดยจุดเด่นอีกด้านของผลงานนวัตกรรม “ซีเมนต์กระดูก” คือ สามารถเซตตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง จึงสามารถปั้นหรือขึ้นรูปให้มีรูปร่างตามต้องการได้ และสามารถพัฒนาต่อยอดนำมาขึ้นรูปที่ซับซ้อนแบบสามมิติ (3D printing) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ”
“จึงเหมาะสำหรับการทำกระดูกที่มีความซับซ้อนของผู้ป่วย โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานวิจัยเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มากอีกด้วย” รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวสรุป
ด้าน อาจารย์ พ.ท.นพ.บุระ สินธุภากร หัวหน้าสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยถึงการใช้ซีเมนต์กระดูกในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันว่า “โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ซีเมนต์กระดูกเพื่อการเสริมความแข็งแรงของกระดูกในตำแหน่งใกล้ข้อ เพื่อช่วยเร่งการสร้างกระดูกในกรณีกระดูกหักหรือกระดูกติดช้า ช่วยถมตำแหน่งที่มีการขาดหายไปของกระดูก”
“กรณีตัวอย่างเช่นที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยใช้การรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์กระดูกในกระดูกสันหลัง หรือวิธี Vertebroplasty ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุด กระดูกสันหลังผิดรูป หรือที่เกิดจากกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางกระดูกสันหลังโดยแพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณสันหลังเป็นรอยเล็กๆ เพื่อใส่เข็มที่จะฉีดซีเมนต์บริเวณกระดูกสันหลังภายใต้การควบคุมตำแหน่งโดยเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เมื่อฉีดซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะค่อยๆ ดึงเข็มออกและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อกระดูกสันหลัง 1 ชิ้น”
อาจารย์ พ.ท.นพ.บุระ กล่าวอีกว่า “สำหรับข้อดีของการรักษาด้วยวิธี Vertebroplasty คือลดระยะเวลาในการพักฟื้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนเท่านั้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขณะที่รักษาโรคกระดูกพรุน โดยสารทดแทนกระดูกที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาอยู่ที่ 0.5 cc ราคาโดยประมาณ 12,000 บาท”
“หากใช้วัตถุดิบที่สามารถผลิตในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้า และขยายโอกาสในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ หากงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก ได้ถูกบรรจุเข้าบัญชีนวัตกรรมไทยมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ทีมวิจัยจะได้ทำการศึกษาและพัฒนาต่อในอนาคต” อาจารย์ พ.ท.นพ.บุระ กล่าวทิ้งท้าย