มาจนได้ “โคราชเมืองอกแตก!” ประชุมครั้งสุดท้าย “รถไฟทางคู่” ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช ปัญหาใหญ่สรุปไม่ลง ทุบ-ไม่ทุบ“สะพานสีมาธานี” ยกเหตุผลสู้กัน “สุรวุฒิ เชิดชัย”มาเต็มยืนยันต้องทุบสะพานสีมาฯเท่านั้น หวังฟื้นชีพแยกอัมพวันพร้อมทางลอดเมืองพัฒนาได้ไร้ขีดจำกัด ด้าน “จักริน เชิดฉาย” ลั่นไปดูที่ขอนแก่นมาแล้วยกระดับทั้งเมือง ให้ข้ามสะพานไปเลย ส่วนที่ปรึกษาการรถไฟขอลอดสะพานเท่านั้น โยนปัญหาให้ “การรถไฟ-กระทรวงคมนาคม” ตัดสินแทน
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) ของงานจ้างปรับแบบรายระเอียดบริเวณ อ.สีคิ้ว และตัวเมืองนครราชสีมา ในโครงกรก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่2 คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม และ นายจุลพงษ์ จุฬานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย, นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา, ตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม, ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข., ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนชาว จ.นครราชสีมา ร่วมประชุมกว่า 500 คน
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำรูปแบบแก้ไขใหม่ มาเปิดเผยให้ประชาชนชาว จ.นครราชสีมาดู โดยรูปแบบใหม่ บางช่วงจะทำการยกระดับทางรถไฟ และบางช่วงจะทำเป็นคันทางรถไฟสูงแล้วก่อสร้างเป็นถนนลอดใต้ทางรถไฟแทน โดยไม่มีการทุบสะพานต่างระดับโรงแรมสีมาธานีแต่อย่างใด ทำให้เกิดเสียวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก่อนที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย และ สนข.จะเสนอแบบให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการก่อสร้างต่อไป
นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า “เนื่องจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ต้องการให้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับตลอดแนวตั้งแต่บริเวณ 3 แยกปักธงชัย ถึงบริเวณทางเลี่ยงเมือง เพื่อให้ตัวเมืองโคราชสามารถทำถนนเชื่อมเมืองทิศเหนือ ทิศใต้ได้ สามารถวางท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และสามารถพัฒนาเมืองได้อย่างไร้ขีดจำกัดในอนาคต”
“แต่การรถไฟกลับมองปัญหาการจราจรติดขัดในระยะสั้น ช่วงที่มีการก่อสร้างเท่านั้น จึงทำเป็นคันทางและมีทางลอดแทน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาตัวเมืองในอนาคตทำได้ยากหรือไม่ได้เลย ดังนั้นวันนี้ ทางเทศบาลนครนครราชสีมา ก็ขอยืนยันคำเดิมคือขอให้ทุบสะพานต่างระดับโรงแรมสีมาธานี และทำทางรถไฟยกระดับตลอดแนวตามที่เคยเสนอไปครั้งแรก”
“ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงเข้ามาสู่ตัวเมืองโคราชแล้ว ก็จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมืองโคราชได้แบบก้าวกระโดด เพราะจะมีระบบการขนส่งที่ดีขึ้น ประชากรจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนการพัฒนาเมืองระยะยาว เพื่อรองรับความเจริญในอนาคต” นายสุวุฒิ กล่าว
เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “จากที่ฟังการประชุมครั้งที่แล้วที่หอประชุมเปรมฯ ตนและเพื่อนๆได้ไปดูงานที่ขอนแก่น ไปดูว่าเขายกระดับรถไฟทางคู่อย่างไร ไปเห็นภาพจริง วันนี้ที่ขอนแก่นยกระดับ 5-6 กิโลเมตรผ่านเมืองไปเลย วันนี้โจทย์ที่ให้มาในแบบสอบถาม จะทำให้คนโคราชทะเลาะกันว่า ทุบ-ไม่ทุบ สะพานสีมาธานี ถ้าทุบจากที่ฟังจากผู้เชี่ยวชาญครั้งที่แล้วบอกว่าเส้นทางนี้มีรถเฉลี่ยประมาณแสนคัน ถามว่าถ้าทุบสะพานจะเกิดอะไรบ้าง วันนี้ที่บอกใช้เวลา 30 เดือน บางท่านบอก 1 ปีน่าจะเสร็จ แต่ถ้าเราใช้สะพานเส้นนี้ซึ่งเป็นสะพานเส้นหลักสีมาธานี ประเด็นคือถ้าใช้เวลานานขึ้น ใช้น้ำมันมากขึ้น สมมติ 50 บาท/วัน นั่นหมายถึงประมาณ 5 ล้านบาทที่ต้องใช้ค่าน้ำมันปีละพันกว่าล้าน 3 ปี 4-5 พันล้านค่าใช้จ่ายตรงนี้ยังไม่รวมกับความสูญเสียทางด้านจิตใจและอื่นๆ มันอาจจะแพงกว่าการยกระดับทางรถไฟด้วย”
“ส่วนเรื่องที่นายกฯสุรวุฒิ ศึกษามาทำรูปแบบมาดี ถ้าภาพสุดท้ายเป็นแบบนั้นได้เร็วผลกระทบน้อยที่สุด แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่าวันนี้ทางรัฐบาลจะช่วยชาวโคราชไม่ทะเลาะกัน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปเบ็ดเสร็จเลยคือยกระดับทางรถไฟข้ามสะพานสีมาธานีเลยได้ไหม ข้ามไปลงจิระ ถามว่าถ้าต้องใช้เงินอีก 1 พันล้าน มันจะคุ้มค่ากว่าหรือไม่”
เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “ที่ผ่านมาตนทราบว่า พลเอกประยุทธ์ ได้อนุมัติงบมา 3,500 ล้านแล้วในเบื้องต้น ถ้าวันนี้คนโคราชเราบอกว่าต้องการแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จและเราไม่ต้องทะเลาะกัน ถ้าเราบอกเราทุบสะพาน ลองมองว่า 6 เดือนแรกที่จะเกิดวิกฤติจราจร กว่าจะถึง 3 ปี เศรษฐกิจจะเสียหายไปกี่พันล้าน ตนไม่ได้ว่าไม่ดีอย่างที่นายกฯสุรวุฒิเสนอ แต่ระหว่างนั้นจะทะเลาะกันอีกไหม พอมันเกิดวิกฤติจริงๆหาทางออกไม่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลหรือการรถไฟเพิ่มงบประมาณอีก 500 ล้าน หรือพันล้านแล้วยกระดับข้ามสะพานลอยสีมาธานีไปเลย ไปลงหลังจากข้ามสะพานลอยหัวทะเลไปแล้วน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าหรือไม่”
“วันนี้สถานีรถไฟขอนแก่นได้ทุบของเก่าแล้วยกระดับหมดแล้ว หากจะพูดถึงรถไฟความเร็วสูง ตนเป็นประธานหอการค้า ตั้งแต่ปี 2554 เป็นเลขาตั้งแต่ปี 2552 ผ่านมาหลายรัฐบาล ตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ต่อให้มีแบบก็ไม่มีความแน่นอน เพราะจะเลือกตั้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ความต่อเนื่องของรัฐบาลสำคัญที่สุด แต่เศรษฐกิจของโคราชจะรอรัฐบาลใด รัฐบาลหนึ่งไม่ได้”
“เพราะฉะนั้นตนยังจะเสนอว่า สถานีรถไฟที่จะเกิดขึ้น ออกแบบก่อนเลยได้ไหม ทำก่อนเลยวันนี้ตั้งแต่ครั้งที่แล้วมาครั้งนี้ ท่านต้องไปพ่วงรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอย่างเร็วจะมาปี 2566 ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตนติดตามมาตั้งแต่ 2552 ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นขอเสนอว่า ไม่ต้องการให้คนโคราชทะเลาะกันและแก้ไขปัญหาให้จบคือ ยกข้ามสะพานสีมาธานี และไปลงหลังจากสะพานหัวทะเล” เภสัชกรจักริน กล่าวทิ้งท้าย
นายจุลพงษ์ จุฬานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “วันนี้ความเห็นของชาวโคราช ในเรื่องการปรับแบบโครงการรถไฟทางคู่ ก็ยังมีความเห็น 2 ฝั่ง บางกลุ่มต้องการให้ทุบสะพานหน้าสีมาธานีเพื่อให้ทางรถไฟยกระดับไป บางกลุ่มก็ต้องการให้ยกข้ามสะพานสีมาธานีเลย เป็นระดับ 3 เท่ากับรถไฟความเร็วสูง คือสูงประมาณ 14 เมตร ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และในกระบวนการซ่อมของรถไฟก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะโรงซ่อมเราอยู่ในระดับพื้นดิน”
“ตอนนี้ทางที่ปรึกษากำลังศึกษาข้อมูลรอบด้าน คิดว่าแบบก็คือ ทางรถไฟวิ่งระดับพื้นดินเหมือนเดิม มุดใต้สะพานลอยทางรถยนต์หน้าสีมาธานีแล้วก็ยกระดับขึ้นไปสถานีโคราช ซึ่งเดิมคือ บอกว่าจะทุบ ต่อมาพอมีรถไฟความเร็วสูง เลื่อนระยะไป 160 เมตร ทำให้รถไฟสามารถมุดใต้สะพานขึ้นไปได้”
“สาเหตุที่ไม่สามารถยกระดับตรงบริเวณที่มีโรงซ่อม คือที่ต้องการให้ยกตั้งแต่ทางเข้าเมืองให้ยกสูงไปเลย เพื่อจะได้พัฒนาพื้นที่เมือง แต่มันติดข้อจำกัดของรถไฟ ถึงแม้จะยกไปแล้ว รถไฟข้างล่างก็ยังต้องวิ่งอยู่ อาจจะยังไม่เข้าใจตรงนี้ รถไฟข้างล่างเราไม่ได้รื้อ ซึ่งแม้จะยกก็เกิดประโยชน์น้อย”
“ส่วนสะพานต่างระดับโรงแรมสีมาธานี จะทุบหรือไม่ทุบนั้น จากการประชุมในครั้งนี้ ก็จะได้นำข้อคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด ไปนำเสนอต่อผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาว่าจะมีความเห็นอย่างไร ถ้าไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็ต้องส่งไปให้กระทรวงคมนาคมตัดสินใจต่อไปอาจจะต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน” นายจุลพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย