ผู้ว่าโคราชถึงกับอึ้ง “วัดประชาคมาราม” อ.ห้วยแถลง สร้าง “พิพิธภัณฑ์สืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย” จัดแสดงอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆแต่ดั้งเดิมที่ใช้ในการทำนา อาทิ เกวียน ที่มีทั้งเกวียนเทียมควาย และเทียมวัว ล้อ คันไถรุ่นต่างๆ โชว์ภูมิปัญญาชาวนาไทยครบถ้วน เจ้าอาวาสรวบรวมจากชาวบ้านไว้ในวัด เตรียมยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ภายในวัดประชาคมาราม หมู่ 8 ตำบลทับสวาย อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เดินทาง เข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์สืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย และศูนย์วัฒนธรรมประจำอำเภอห้วยแถลง” เพื่อเตรียมยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
โดยทางพิพิธภัณฑ์สืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี2545 ตามความประสงค์ของ “พระครูวิสุทธิประยุตต์” เจ้าคณะอำเภอห้วยแถลง และเจ้าอาวาสวัดประชาคมาราม โดยมีแนวความคิดว่าเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ไม่ควรนำออกไปขายหรือจะละเลยทอดทิ้ง เพราะเป็นผลผลิตที่สะท้อนถึงความรู้ความสามารถ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณของบรรพชน
จากแนวความคิดดังกล่าวท่านจึงได้อนุรักษ์ สะสมและรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จากประชาชนในเขตอำเภอห้วยแถลง และท้องถิ่นใกล้เคียง นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดประชาคมาราม เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลในการเรียนรู้ของชุมชน แก่คนรุ่นหลังได้รู้จักและสำนึกบุญคุณของชาวนาไทย ในลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์
โดยจุดเริ่มต้นของการเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของที่ใช้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เกิดจากการจัด “มหกรรมสืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 มกราคม พ.ศ.2544 ที่โรงเรียนอนุบาลมณีราษฎร์คณาลัย ซึ่งภายในงานท่านพระครูก็เริ่มขอรับบริจาคอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาจากชาวบ้าน และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านนำมาบริจาคเป็นจำนวนมาก ต่อมาพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้แนะนำให้ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์ว่า “พิพิธภัณฑ์สืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย”
และในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2544) ทางวัดจึงได้สร้างอาคารไม้ชั้นเดียวขึ้นเป็นอาคารจัดแสดงชั่วคราวของพิพิธภัณฑ์ ภายในอาคารมีการจัดแสดงอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการทำนา อาทิ เกวียน ที่มีทั้งเกวียนเทียมควาย และเทียมวัว ล้อ คันไถรุ่นต่างๆ สังเกตจากหัวหมูซึ่งมีตั้งแต่หัวหมูที่ทำด้วยไม้และพัฒนาจนไปถึงหัวหมูเหล็ก ไม้ครีบหรือไม้ฟาดข้าว แอกที่ใช้สำหรับวัวหรือควายที่ใช้เทียมเกวียน คราด กระด้งเลี้ยงตัวไหม
โดย “พิพิธภัณฑ์ชาวนา” แห่งนี้มีการแบ่งแยกจัดแสดงออกเป็นหมวดหมู่ อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก โดยมี ป้ายชื่อที่บ่งบอกความเป็นเจ้าของเดิมของวัตถุสิ่งของชิ้นนั้นๆ ซึ่งทางท่านพระครูให้เหตุผลในการติดป้ายแสดงความเป็นเจ้าของนี้ว่า เป็นการให้เกียรติ์ และแสดงความขอบคุณเจ้าของเดิมที่มอบวัตถุชิ้นนั้นให้กับทางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่ใส่ใจความรู้สึกของผู้บริจาคสิ่งของให้ อีกทั้งยังทำให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้รู้จักความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของวัตถุชิ้นนั้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีวัตถุสิ่งของที่เป็นอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกเก็บรักษาไว้บนชั้น 2 ของอาคารกุฏิสงฆ์เดิม ใช้เป็นที่เก็บถังตวงข้าวขนาดต่างๆ ไม้วีที่ใช้พัดข้าวเมล็ดลีบออกจากข้าวเมล็ดดี กระบุง ตะกร้า กระจาด หม้อดินเผา โบมส่ายข้าว เครื่องมือดักสัตว์ อุปกรณ์การทอผ้า ฯลฯ และอีกส่วนหนึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่กุฏิของท่านเจ้าอาวาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องทองเหลือง และผ้าทอต่างๆ
เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มีวัตถุสิ่งของในการจัดแสดงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ในการจัดแสดงที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ จึงทำให้พระครูวิสุทธิประยุตต์ เจ้าอาวาสวัดริเริ่มโครงการก่อสร้าง “พิพิธภัณฑ์สืบสานภูมิปัญญาชาวนาไทย และศูนย์วัฒนธรรมประจำอำเภอห้วยแถลง” ที่เป็นอาคารแสดงถาวรขึ้น ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ซึ่งจะนำเสนอเรื่องราวการทำนาของชาวนาในสมัยโบราณ และวิถีชีวิตชาวบ้านของผู้คนในชุมชน โดยทางจังหวัดนครราชสีมา เตรียมยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป.