“ผู้ว่าฯวิเชียร” นำ “โคราชจีโอพาร์ค” ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับผู้บริหารระดับสูงของ 2 มรดกโลกยูเนสโก มุ่งพิทักษ์รักษ์โลก สิ่งแวดล้อม และประชากร รวมทั้งให้ความสำคัญกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบจีโอทัวร์(Geotourism) อย่างยั่งยืนของจีโอพาร์คเชื่อม 3 มรดกของโลก
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 61อาคารสิรินทร สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนรราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีโคราช หรือ “โคราชจีโอพาร์ค” ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับผู้บริหารระดับสูงของ 2 มรดกโลกยูเนสโกในจังหวัด คือ มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช โดยนางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน ในฐานะจะเป็นเครือข่ายหรือสมาชิกของยูเนสโกครบทั้ง 3 องค์กรในอนาคต หากอุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค ได้รับการรับรองจากยูเนสโกตามโรดแม็ปในปี พ.ศ.2563 ซึ่งประเทศไทยโดยจังหวัดนครราชสีมา จะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก” หรือ The UNESCO Triple Crown ประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง 3 มรดกโลกครั้งนี้ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นไปตามนโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานของยูเนสโก ที่มุ่งพิทักษ์รักษ์โลก สิ่งแวดล้อม และประชากร รวมทั้งให้ความสำคัญกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบจีโอทัวร์(Geotourism) อย่างยั่งยืนของจีโอพาร์ค โดยชุมชนท้องถิ่นซึ่งจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยกิจกรรมร่วมมือ หรือเชื่อม 3 มรดกของโลกเข้าด้วยกัน เช่น ร่วมศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยา บรรพชีวินวิทยา นิเวศวิทยา ร่วมอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการจัดกิจกรรมพัฒนาประชาสัมพันธ์ สร้างสื่อร่วมกัน สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น”
“โดยกิจกรรมแรก หลังลงนาม MOU คือ กิจกรรมค่ายจีโอพาร์ค (Geopark Camp) ครั้งที่1 ในวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2561 นี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาแกนนำนักเรียนและครูด้านการท่องเที่ยวแบบจีโอทัวร์ เชื่อมโยง 3 มรดกของโลกเป็นวงรอบในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อการขยายผลสัมฤทธิ์ในวงกว้างต่อไป”