กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรง ชาวโคราชไม่รู้ปัญหาจากการสร้างทางรถไฟรางคู่ว่ามีผลกระทบไปชั่วชีวิต โปรเจ็กต์รถไฟทางคู่สายขอนแก่น-สถานีจิระโคราช รูปแบบสร้างทาง 2 แบบยกสูงและไม่ยกสูง “ขอนแก่น-อุดร” ได้ทางรถไฟยกระดับแต่โคราชกระแสข่าวตาลปัตรจะไม่ยกระดับ ล่าสุด“สุรวุฒิ เชิดชัย”นายกเทศบาลโคราช เปิดประเด็นร้อนร่วมกับ “หอการค้าฯและสภาอุตสาหกรรม” ชี้เปรี้ยงทางรถไฟผ่าเมืองอนาคตวิกฤติโคราชจะเป็นเมืองอกแตก รูปแบบก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ของ “สนข.” หากไม่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมืองโคราช ไม่เป็นผลดีต่อวิถีการใช้ชีวิตชุมชนใหญ่ เตรียมร้องภาครัฐที่เกี่ยวข้องฟังเสียงคนท้องถิ่น ขอดูรูปแบบทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงช่วงผ่านเมือง ที่ยังไม่เคยเห็นจาก”สนข.”

ยอมรับรถไฟทางคู่สร้างความเจริญ

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา เปิดเผยถึงโครงการรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นว่า “โครงการนี้จะสร้างความเจริญให้กับชาวโคราชอย่างแน่นอน และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมวลชนโดยลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานและให้ประชาชนมีทางเลือกในสัญจรจากเมืองโคราชไปสู่ภูมิภาคต่างๆได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เมืองโคราชมีความเจริญพัฒนายิ่งขึ้นและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

ไม่เห็นด้วยปิดทางข้ามรถไฟ 2 ฝั่งถาวร

“ที่ตนมองโครงการสร้างทางรถไฟ ช่วงเส้นทางผ่านตัวเมืองโคราชถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ มีจุดตัดเป็นถนนข้ามทางรถไฟเชื่อมต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอาณาเขตติดต่อกันและชุมชนขนาดใหญ่ เริ่มตั้งแต่โคกกรวดถึงตัวเมืองโคราชต้องเป็นทางยกระดับไม่ใช่ทางพื้นถนนหลักไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ ซึ่งปัจจุบันทางข้างรางรถไฟจะใช้เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ควบคุมการเปิดปิดเครื่องกั้น แต่รูปแบบการก่อสร้างของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ยกเลิกจุดตัดทางข้ามถาวร ให้ใช้ถนนเลียบทางรถไฟและทางต่างระดับหรือสะพานข้ามทางรถไฟหัวทะเล ซึ่งเป็นจุดเดิมและก่อสร้างใหม่ที่หน้าทางเข้าค่ายสุรนารีแทน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรไปมาหาสู่กัน”

กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

“การประชาพิจารณ์ ซึ่งดำเนินการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-ชุมทางถนนจิระ-มาบกะเบา ช่วงเส้นทางจากสถานีภูเขาลาด อ.เมือง ถึงสถานีบ้านเกาะ อ.เมือง เป็นทางรถไฟบนดินสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการเดินทางระบบราง ต้องปิดจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟ ซึ่งมีเครื่องกั้นควบคุมการเปิดปิดด้วยมนุษย์และอัตโนมัติ รวม 10 จุด ก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานข้ามทางรถไฟจำนวน 6 จุด ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน”

“ทางรถไฟยกระดับ”เหมาะเมืองโคราช

นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “หากใช้เป็นทางรถไฟยกระดับตนมองว่าจะเหมาะสมมากกว่า เพราะว่าเวลาเราต้องการตัดถนนเพิ่มเพื่อระบายการจราจรให้โครงข่ายจราจรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และการวางท่อระบายน้ำที่จะเชื่อมต่อถ้าเป็นทางรถไฟยกระดับจะทำให้การพัฒนาเมืองโคราชได้ดีขึ้น ในอนาคตการจราจรค่อนข้างหนาแน่นสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาจราจรได้”

โคราชจะกลายเป็นเมืองอกแตก!

“แต่ถ้าทางรถไฟไม่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมือง อนาคตจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ นานา โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างเมือง ต้องลำบากมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากกายภาพพื้นที่ต้องระบายน้ำเลียบทางรถไฟลงลำตะคอง จะส่งผลให้การวางแนวท่อมีปัญหาภายหลัง ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับทางรถไฟทางคู่ผ่านเมืองโคราช ไม่ให้เป็นเมืองอกแตกถูกทางรถไฟแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่ง”

เตรียมรวบรวมข้อมูลชี้แจงรัฐบาล

“เทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมกับ อปท. 5 แห่งที่ได้รับผลกระทบ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา กำลังรวบรวมข้อมูล สำรวจรายละเอียดผลกระทบทางคุณภาพชีวิตและตัวเลขทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการดำรงชีวิต รวมทั้งความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ชี้แจงต่อ สนข.และรัฐบาล ขอให้ผู้มีอำนาจรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุรวุฒิ กล่าว