ปิดฉากมหากาพย์ “ทุบ-ข้าม-ลอด” รถไฟทางคู่ผ่านกลางเมืองโคราช ประกาศิต “ครม.สัญจรโคราช” สั่งยกระดับรถไฟทางคู่ ยาว 16 กิโลเมตรข้ามสะพานสีมาธานีเหมือน “รถไฟความเร็วสูง” โดยไม่ต้องทุบสะพาน คาดเริ่มก่อสร้างในต้นปี 2568 และแล้วเสร็จครบทั้งเส้นทางในปี 2571 ล่าสุด! “รฟท.” สรุปปรับแบบรถไฟทางคู่ผ่านตัวเมืองโคราช ยกระดับข้ามสะพานบายพาส-สะพานสีมาธานี ยัน “ไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่” เสร็จต้อนรับบิ๊กงานยักษ์โคราช “KORAT EXPO 2029” มหกรรมพืชสวนโลก จัดยาวที่ ต.เทพาลัย อ.คง วันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573

หลังจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 67 ที่กระทรวงคมนาคม มีการประชุมพิจารณาแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะใช้พื้นที่บริเวณสะพานสีมาธานี จ.นครราชสีมา เนื่องจากยังมีชาวโคราชพื้นที่ชุมชนรอบสะพาน และภาคเอกชน เรียกร้องให้ “ทุบสะพาน” เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และการขยายเมืองในอนาคต

ขณะที่แผนงานของ รฟท. จะไม่ทุบสะพานสีมาธานี ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และส่งผลให้ทั้ง 2 โครงการในช่วงบริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งมติชาวโคราช กรณีสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ในการประชุม อจร.นม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ได้สรุปแนวทาง รื้อถอนสะพานสีมาธานี และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน และยังคงยืนยันให้ รฟท.ทำตามมติเดิม

รวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร ให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก เพื่อลดผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ไม่ได้ข้อยุติและทำให้เส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ช่วงผ่านสถานีรถไฟนครราชสีมา ต้องเป็นคอขวดและขบวนรถรอสับหลีก

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม บุกโคราชรับปากจะสั่งรฟท.เร่งทำแบบสร้างทางรถไฟ “ข้ามสะพานสีมาธานี” ไม่ลอดใต้สะพานปิดแยกถนนสืบศิริข้างตะวันแดง และขึ้นไปเป็นทางยกระดับประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี ยุติปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้ในทุกมิติ พร้อมตั้งงบประมาณเร่งด่วน!

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 67 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 ที่ จ.นครราชสีมา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า “หลังลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร”

“และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง งานสัญญาที่ 3-5 เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด ไทม์ไลน์ เดือนสิงหาคมนี้ เสนอคณะกรรมการ รฟท. ต้นปี 2568 ประกวดราคา ช่วงกลางปีเริ่มก่อสร้าง ระยะเวลา 24 เดือน คาดแล้วเสร็จปี 2570 (หากไม่ติดปัญหาเพิ่มเติม) และมีทางรถไฟระดับดินเพื่อให้รถไฟเข้าโรงซ่อมรถไฟได้และไม่ทุบสะพานสีมาธานี”

ล่าสุด! เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 67 ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา (หลังใหม่) นายกิตติศักดิ์  ธีระวัฒนา รอง ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมีผู้แทนหน่วยงานรัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนเข้าร่วม

ซึ่งในระเบียบวาระที่ 3.2 ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงผ่านระบบซูม ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ กรณีข้อขัดแย้งกับชาวโคราช คณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เห็นชอบให้แก้ไขรูปแบบเป็นทางยกระดับผ่านเมืองช่วงสถานีโคกกรวด–ชุมทางถนนจิระ รวมระยะทาง 16 กิโลเมตรว่า

เบื้องต้นสร้างทางรถไฟยกระดับข้ามสะพานเลี่ยงเมืองและสะพานสีมาธานี จากนั้นลดระดับความสูงเหลือประมาณ 5.5 เมตร เพื่อจอดที่ชั้น 2 อาคารสถานีรถไฟนครราชสีมาหลังใหม่และสถานีชุมทางถนนจิระ ขณะนี้อยู่ระหว่างที่ปรึกษาออกแบบทางเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟขอนแก่นและอุบลราชธานี วันที่ 6 สิงหาคมนี้

โดยคณะทำงานทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่จะประชุมหารือร่วมกัน เพื่อปรับรูปแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องทั้ง 2 โครงการ รวมทั้งต้องมีความเป็นไปได้ของหลักวิศวกรรมโยธา ต่อไปนำเสนอ ครม.เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินและจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากนั้นเริ่มก่อสร้างทันที ไทม์ไลน์เปิดให้บริการทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่แล้วเสร็จก่อนการจัดมหกรรม “พืชสวนโลก” อ.คง จ.นครราชสีมา ปี 2572 อย่างแน่นอน

สำหรับมหกรรมพืชสวนโลก “KORAT EXPO 2029” ครม.ได้อนุมัติงบ 4,281 ล้านบาทให้โคราชเป็นเจ้าภาพ จัดเป็นครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานระดับ A1 หรือ WORLD HORTICULTURAL EXPOSITION ตั้งเป้าหมายมีผู้เข้าชมงาน 2.6 ล้านคน เป็นชาวต่างชาติร้อยละ 15 และมีประเทศเข้าร่วมงาน 30 ประเทศ ตลอดระยะเวลาจัดงาน 110 วัน จัดระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573

งานมหกรรม “พืชสวนโลก 2029” คอนเซ็ปต์แนวคิดการจัดงาน GREENERY ENVISIONING THE GREEN FUTURE “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจีอนาคตแห่งโลกสีเขียว” บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ “โคกหนองรังกา” ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา เนื้อที่จัดงาน 678 ไร่ ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงาน “มหกรรมพืชสวนโลก” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2549 โดยนับเป็นการจัดงานมหกรรมระดับโลกครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนั้นอีกด้วย