โคราชจัดงาน “ไหว้พระธาตุและงานวันหมี่ตะคุ” ขนเส้นหมี่ตะคุ 500 กก.ผัดแจกนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงาน หวังสร้างซอฟต์พาวเวอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินให้ชุมชนพร้อมชมความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของ “วัดหน้าพระธาตุ” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 อุโบสถหลังเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ชมนิทรรศการความเป็นมาของหมี่โคราชหรือ “หมี่ตะคุ” งานจัด 3 วัน เริ่ม 23-25 กุมภาพันธ์ 67 ที่วัดหน้าพระธาตุ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ที่วัดหน้าพระธาตุ บ้านตุคุ ม.1 ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายสามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ไหว้พระธาตุและงานวันหมี่ตะคุ ประจำปี 2567” เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชุมชน ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โบราณสถานวัดหน้าพระธาตุ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย

เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น  คือการทำหมี่ตะคุ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคี ความเข้มแข็ง บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมแรงร่วมใจพร้อมใจกันสร้างอัตลักษณ์การรำบวงสรวงพระธาตุ และเพื่อเป็นการระดมทุนในการพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดหน้าพระธาตุ

สำหรับการจัดงานกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ก.พ. 2567 นี้ กิจกรรมภายในงานได้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์  พิธีบวงสรวงเทพยดา  พิธีรำบวงสรวงขอขมาพระธาตุโบราณ  อายุมากกว่า 350 ปี โดยสตรีชาว ต.ตะคุ จำนวน 99 คน ที่สวมชุดผ้าไหมปักธงชัยสีน้ำทะเล  ร่วมในพิธีรำบวงสรวงและรำขอขมา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นายเชน หีบสระน้อย กำนันตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานจะได้พบกับความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของวัดหน้าพระธาตุ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆได้แก่ พระธาตุ เจดีย์อุโบสถ และหอไตรกลางน้ำ ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มีศิลปะแบบท้องถิ่นปะปนอยู่มาก อุโบสถหลังเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังสมัยต้นรัตนโกสินทร์ปรากฏให้เห็นอยู่เกือบสมบูรณ์ทั้งบริเวณผนังด้านหน้าข้างนอกและผนังด้านในทั้งสี่ด้าน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก และเป็นภาพการสักการะพระพุทธบาท”

“นอกจากนั้นยังแทรกภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้านในสมัยนั้น ที่นอกเหนือจากการทอผ้าไหม ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา นั่นคือ “หมี่โคราช” ที่เรียกว่า “หมี่ตะคุ” ตามชื่อบ้าน แต่ด้วยความพิเศษของพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าว รวมถึงแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ได้มาซึ่งข้าวสายพันธุ์ดี ที่ถูกโม่จนกลายมาเป็นแป้งที่ใช้ทำเส้นหมี่โคราชมาแต่ยาวนาน ด้วยความหอมของเส้นเมื่อผัดจนเข้ากันกับเครื่องปรุงต่างๆ ความเหนียวนุ่มและความอร่อยทำให้เป็นต้นตำหรับของหมี่โคราช” 

“นอกจากนี้ยังการจัดนิทรรศการความเป็นมาของ “หมี่ตะคุ” และการคั่วหมี่ตะคุ หรือผัดหมี่ โดยแม่ครัวจาก 17 หมู่บ้านของตำบลตะคุใช้เส้นหมี่ จำนวน 500 กิโลกรัม ผัดได้กว่า 2,500 จาน แจกจ่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวได้กิน ตลอดจนการแสดงเพลงโคราช การออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์ตำบล การแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร อีกด้วย”