คืบหน้าบิ๊กโปรเจ็กต์ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด 2 แห่งกลางเมืองโคราช มูลค่า 1,330 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมือง หลัง ครม.อนุมัติงบประมาณแล้ว “กรมทางหลวง” ลุยฟื้นชีพโปรเจ็กต์เก่า “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล21โคราช” มูลค่า 480 ล้าน หลังเคยถูกชาวโคราชคัดค้านและเบรกโครงการไป 10 กว่าปี กลับมาเตรียมสร้างปีนี้ พร้อม “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” มูลค่า 850 ล้าน สร้างอุโมงค์ทางลอดแพ็คคู่ พร้อมกัน จะได้แก้ปัญหาจราจรติดช่วงก่อสร้างครั้งเดียวจบ เสร็จไม่เกิน 3 ปี
วันที่ 19 พ.ค.66 ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา “แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2” จัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา หรือ “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล” เพื่อรับฟังแนวทางการก่อสร้าง พร้อมเสนอแนะหรือแสดงความต้องการ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ก่อสร้าง
โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายพรชัย ศิลารมย์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวง นครราชสีมาที่ 2 นายชิตพล เหล่าอัน แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 และนายทวีศักดิ์ ศักดิ์นานนท์ นายช่างโครงการฯ ชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจ โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าของสถานประกอบการและประชาชนชาวโคราชร่วม 200 คน
นอกจากนี้ยังนักธุรกิจชื่อดังเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นคัดค้านโครงการ อาทิ นายประยุทธ์-นางปริษา แซ่เตียว เจ้าของร้านชุนหลีแบตเตอรี่, นางสกุณา จึงวิวัฒนาภรณ์ รองประธานกลุ่มคิงส์ยนต์, นายภพ ไตรบัญญัติกุล เจ้าของปั๊ม ปตท.แยกโรงแรมเค.เอส พาวิลเลี่ยน, นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ เจ้าของสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2 และจุดพักรถ “พาข้าว”, นายวิชัย ศรีนวกุล เจ้าของโรงสีข้าวเจริญผล, นายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ ฯลฯ
นายพรชัย ศิลารมย์ กล่าวว่า “สภาพการจราจรคับคั่งบน ถ.มิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณรถต่อวันประมาณ 1.2 แสนคัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวกและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า 10 ปี กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด”
“แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าและชาวโคราชส่วนหนึ่ง ทำให้ต้องชะลอโครงการ ที่ผ่านมาได้จัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร รวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจร แต่ไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางอย่างเพียงพอ รวมทั้งทีปัญหาหลากหลาย”
“โดยนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกนครราชสีมา รูปแบบ 2 ช่องจราจร รองรับการจราจรบน ถ.มิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี รวมระยะทาง 1,181 เมตร เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกขณะก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่โครงการ ทำให้การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัวและใช้เส้นทางอ้อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
“จึงเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบเสนอปัญหา เพื่อนำมาพิจารณา ทบทวนปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการเดินทางของคนเมือง ล่าสุด บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างใช้งบ 480 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 960 วัน เริ่มดำเนินการประมาณปลายปี 2566 ส่วน “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” งบอีก 850 ล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 36 เดือนหรือ 3 ปี โดยวางแผนจะสร้างพร้อมกันแบบแพ็คคู่เพื่อให้กระทบครั้งเดียว” นายพรชัย กล่าว
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 66 ณ ห้องประชุมสบาย A “โรงแรมสบายโฮเทล” อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา “แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1” ได้เปิดประชุมให้ประชาชนในพื้นที่บริเวณแยกประโดก (แยกพีกาซัส) และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ “ทางลอดแยกประโดก” โดยมี นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวง หมายเลข 2 ตัดถนนช้างเผือก ตัดถนนสิริราชธานี (แยกประโดก) ทางหลวงหมายเลข 2 ตอน นครราชสีมา – ดอนหวาย
นายพิชฌคุณ ส.วรเนตร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 1 กล่าวว่า “ตามที่กรมทางหลวง ได้รับงบประมาณปี 2566 ในการก่อสร้างทางลอดดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดสะสมบริเวณแยก ลดการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของจราจรบนทางหลวงสายหลัก ช่วยการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ช่วยลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน”
“ในขณะดำเนินการก่อสร้าง อาจจะมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วิถีชุมชน การจราจรหรือส่วนอื่นๆ ในพื้นที่บริเวณก่อสร้าง กรมทางหลวงจึงจัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ได้มีส่วนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนรูปแบบการก่อสร้าง ขั้นตอนการก่อสร้าง และระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอด”
“ทางลอดแยกประโดกแห่งนี้ได้นำสถาปัตยกรรมที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา คือปราสาทหินพิมาย เป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ โดยนำลวดลายซุ้มประตูทางเข้าปราสาทหินพิมายมาปรับใช้เป็นซุ้มประตูอุโมงค์ และดึงเอกลักษณ์ส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทมาปรับใช้ให้เกิดความรู้สึกเสมือนได้ลอดปราสาทหินพิมาย อาทิ วัสดุสีและพื้นผิวผนังปราสาทมาปรับใช้กับผนังอุโมงค์ เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและคล้ายคลึง นำหินทราย วัสดุในท้องถิ่นและเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมาแกะสลักเป็นรูปป้ายโครงการและป้ายกรมทางหลวง พร้อมจัดภูมิทัศน์บนหลังคาทางลอดและบริเวณรอบ ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบซุ้มทางเข้าทางลอดทั้งสองฝั่ง” นายพิชฌคุณ กล่าว