เบรค! บิ๊กโปรเจ็กต์ 480 ล้านกลางเมืองโคราช “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล” อาจมีปัญหาหลัง “กรมทางหลวง” เพิ่งจัดประชุมประชาสัมพันธ์เตรียมสร้างปี 2566 ล่าสุด! กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหารือจี้ชะลอโครงการก่อสร้าง หวั่นเสียหายปีละกว่า 1 พันล้าน พร้อมปัญหาน้ำท่วม อุบัติเหตุการจราจรและยังไม่มีผู้ใดเสนอตัวออกมารับผิดชอบ อ้างกระบวนการประชาพิจารณ์ไม่ชอบตามขั้นตอน

หลังจากเมื่อวันที่ 19 พ.ค.66 ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา “แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2” จัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา หรือ อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล เพื่อรับฟังแนวทางการก่อสร้าง พร้อมเสนอแนะหรือแสดงความต้องการ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ก่อสร้าง

โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย นายพรชัย ศิลารมย์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวง นครราชสีมาที่ 2 นายชิตพล เหล่าอัน แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 และนายทวีศักดิ์ ศักดิ์นานนท์ นายช่างโครงการฯ ชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจ โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าของสถานประกอบการและประชาชนชาวโคราชร่วม 200 คน

ล่าสุด! วันที่ 21 พฤษภาคม ที่โรงแรมชุนหลีแกรนด์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มผู้ประกอบการค้าและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้าง “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล” ที่กำลังจะเริ่มปิดพื้นที่ก่อสร้างปีนี้ โดยนายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ประธานกรรมการกลุ่มคิงส์ยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ “อีซูซุ” รายใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายประยุทธ แซ่เตียว เจ้าของกิจการ “ชุนหลี” แบตเตอรี่ ตัวแทนจำหน่ายใหญ่ที่สุดในโคราช และประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยได้นัดพูดคุยหารือแนวทางการชะลอโครงการดังกล่าว เพื่อสื่อถึงผู้รับผิดชอบ “กรมทางหลวง” นำมาพิจารณาทบทวนปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยอ้างกระบวนการประชาพิจารณ์ไม่ชอบตามขั้นตอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ไม่เคยรับทราบและร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองนครราชสีมา 

นายประยุทธ แซ่เตียว เปิดเผยว่า “รัศมีพื้นที่โครงการประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล 2 แห่ง สถานศึกษา 7 แห่ง ตลาดสด 5 แห่ง สถานประกอบการกว่า 300 ราย และผู้ที่มีที่ทำกินและที่พักอาศัยจำนวนมาก จะได้รับความเดือดร้อนในขณะก่อสร้างซึ่งใช้เวลาร่วม 3 ปี ต้องรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพจราจรติดขัด ผู้คนหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางในเมือง การค้าขายซบเซา การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัว โดยเฉพาะการเดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลและสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาทั้ง 2 แห่ง ประเมินความเสียหายเฉลี่ยปีละกว่า 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วม อุบัติเหตุการจราจร จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดเสนอตัวออกมารับผิดชอบ”

“การจราจรช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนยานพาหนะที่ใช้เส้นทางดังกล่าวมีปริมาณลดลงเฉลี่ยกว่า 30 % และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากใช้ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาและถนนเลี่ยงเมืองแทน จะสร้างทางลอดเพื่ออะไร มีแต่ทำให้ทัศนียภาพเมืองเสียหาย ควรนำงบที่ได้จากภาษีประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน” นายประยุทธ กล่าว

ด้านนายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ กล่าวว่า “เมื่อปี 2559 กรมทางหลวงได้จัดประชาพิจารณ์ แต่มีการคัดค้านจึงได้ยุติโครงการโดยปริยาย จากนั้นได้นำมาปัดฝุ่นเมื่อปี 2562 จัดประชุมผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอและไม่ได้ยกมือโหวตชัดเจน สิ่งสำคัญไม่เคยมองเห็นผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการหรือไม่ แต่ตั้งธงต้องดำเนินการให้ได้และไม่เคยแจ้งบทสรุปการประชุม การคำนึงถึงความคุ้มค่าการลงทุนที่ควรจัดสรรงบแก้ไขปัญหาจราจรที่สะพานหัวทะเลจะสามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามเป้าหมาย”

“กรมทางหลวง ต้องแก้ไขทั้งระบบ มิใช่จุดนี้แห่งเดียว เหมือนผลักคนให้ออกจากเมืองมากกว่าดึงดูดเข้าเมือง จู่ๆ อ้างมีประชาชนเห็นชอบจากนั้นก็ดำเนินโครงการจนถึงขั้นตอนประมูลหาผู้รับจ้าง ตราบใดยังไม่ลงมือขุดถนนก็ยังมีโอกาสที่จะขอให้ชะลอโครงการได้” นายสุวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้นำเสนอโครงการก่อสร้างทางลอด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งบน ถ.มิตรภาพ ช่วงผ่านเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณรถต่อวันประมาณ 1.2 แสนคัน ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวกและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าและชาวโคราชส่วนหนึ่ง จึงต้องชะลอโครงการ โดยจัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร รวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจรแต่ไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางได้เพียงพอ จึงนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน

ล่าสุด บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างใช้งบ 480 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 960 วัน เริ่มดำเนินการประมาณปลายปี 2566 เมื่อวันที่ 19 พ.ค ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้จัดประชุมชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินโครงการรวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอแนวทางการบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งช่วงก่อสร้าง

(Cr.ข่าว มติชน ออนไลน์)