“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)” เผยภาพภารกิจโรยตัวซ่อม “กังหันลมสูงเสียดฟ้า 94 เมตร” โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง กำลังทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษากังหันลม ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณถนนมิตรภาพ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเข้ามาเช็คอินและถ่ายภาพกับกังหันลมได้ตลอดปี
“โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง” ประกอบไปด้วยกังหันลมทั้งสิ้น 14 ต้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 26.5 เมกะวัตต์ เพื่อให้กังหันลมมีความพร้อมจ่ายอยู่ตลอดเวลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้มีการดูแลบำรุงรักษาเป็นประจำ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทีมด้านไฟฟ้าจากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า และทีมด้านเครื่องกล จากฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ของ กฟผ. จะปฏิบัติงานบำรุงรักษาตามวาระร่วมกันปีละ 2 ครั้ง แต่ในวันนี้มีการปฏิบัติงานในภารกิจเพิ่มเติม นั่นคือ “การโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลม” ซึ่งต้องทำงานภายใต้ความสูงเสียดฟ้า จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทีม Hotline สายงานรองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุนในภารกิจนี้ด้วย
นอกจากทักษะทางด้านงานช่างที่ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษากังหันลมทุกคนต้องเชี่ยวชาญแล้ว ยังต้องผ่านการทดสอบการทำงานบนที่สูง (Work at Height) รวมถึงในภารกิจโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลม จะต้องมีการฝึกอบรมการซ่อมใบพัดกังหันลม (Blade Repair) การฝึกอบรมการทำงานบนเชือก (Rope Access) รวมไปถึงการช่วยเหลือกันในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Rescue) เพิ่มเติมอีกด้วย โดยก่อนเริ่มทำงานทุกครั้ง จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นอันดับแรก จึงต้องเช็คสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงลมที่ต้องมีความแรงไม่เกิน 10 เมตร/วินาที ต้องไม่มีฟ้าผ่าในรัศมี 80 กิโลเมตร และไม่มีฝนตกในพื้นที่เท่านั้นถึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
เมื่อสภาพอากาศพร้อม สภาพจิตใจ และร่างกายพร้อม ทีมงานบำรุงรักษากังหันลมก็จะประชุมวางแผนและแบ่งหน้าที่การทำงานในวันนั้น จากนั้นจะสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง (Full Body Harness) เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน สำหรับการโรยตัวซ่อมใบพัดกังหันลมแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วยทีมงาน 3 ทีม คือ ทีมซ่อมใบพัดกังหันลม จำนวน 2 คน ทีม Support ซึ่งจะ Stand by อยู่ด้านบนกังหันลม (บริเวณ Nacelle) จำนวน 3 คน และทีม Support ภาคพื้นดินอีกจำนวน 3 คน ในการสนับสนุนการทำงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งคอยระมัดระวังด้านความปลอดภัยและพร้อมให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
การโรยตัวซ่อมใบพัด นอกจากจะทำงานภายใต้ความสูงเสียดฟ้าแล้ว ทีมงานยังต้องเผชิญกับความร้อนของสภาพอากาศอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของทีมงานจึงปฏิบัติงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับการโรยตัวทำได้ 2 วิธี คือ โรยตัวลงมาจากด้านบนของกังหันลม หรือขึ้นวินช์ไฟฟ้า (รอกกว้านสลิงไฟฟ้า) จากด้านล่างก็ได้ ซึ่งทีมงานจะพิจารณาจุดที่จะทำการซ่อมของกังหันลมก่อน จึงจะเลือกวิธีในการโรยตัว โดยทีม Support ด้านบนกังหันลมจะต้องขึ้นลิฟต์ขนาดเล็กภายในกังหันลมเพื่อทำหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการโรยตัวก่อน
ในขณะเดียวกันทีม Support ภาคพื้นดินก็ต้องช่วยเตรียมความพร้อมและรอรับเชือกโรยตัวจากทีมด้านบน และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วจึงเป็นหน้าที่ของทีมโรยตัวที่จะขึ้นซ่อมกังหันลมในที่สุด โดยระหว่างนั้น ทีม Support ด้านบนจะทำหน้าที่ดูแลสภาพอากาศและคอยช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ส่วนทีม Support ภาคพื้นดินก็ต้องคอยดูแลเชือกของทีมโรยตัวและคอยช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน ทุกคนในทีมถือว่ามีความสำคัญต่อภารกิจทั้งสิ้น
เมื่อทำงานครบ 2 ชั่วโมง ทีมโรยตัวก็จะใช้โรยตัวลงมาเพื่อพักผ่อน เช่นเดียวกับทีม Support ทุกคน และหลังจากพักแล้วก็จะเช็คสภาพอากาศ ก่อนวางแผนการทำงานและเริ่มดำเนินการเช่นเดิมอีกครั้งในทุกครั้งๆ และทุก ๆ วัน จนการซ่อมใบพัดเสร็จสมบูรณ์
ในที่สุดภารกิจโรยตัวซ่อมกังหันลมของมนุษย์ธรรมดาที่ดูไม่ธรรมดาก็สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการโรยตัวในครั้งนี้ใช้เวลาถึง 15 วันกับการซ่อมใบพัดทั้ง 3 ใบ และกังหันลมต้นนี้ก็จะกลับมาหมุนผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทยและมุ่งสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นี่เป็นอีกหนึ่งภารกิจแห่งความภาคภูมิใจที่ใช้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในงานบำรุงรักษากังหันลมของทีมงานบำรุงรักษาทุกคน
(Cr.เพจ กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)