“สวนสัตว์โคราช” เปิดตัว “ลูกพญาแร้ง” ตัวแรกของประเทศไทยที่พยายามเพาะขยายพันธุ์มานานกว่า 20 ปีหลังสูญพันธุ์จากธรรมชาติไปแล้วกว่า 30 ปี เกิดจากแม่ “นุ้ย” และพ่อ “แจ็ค” เผยเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตและไทยมีพญาแร้งเหลือแค่ 6 ตัว ชื่นชมสามารถขยายพันธุ์พญาแร้งในสถานเพาะเลี้ยงได้สำเร็จเป็นประเทศที่สองของโลกและตัวแรกของเอเชีย
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.66 ที่สวนสัตว์นครราชสีมา นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ได้ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวสมาชิกใหม่ “ลูกพญาแร้ง” ตัวแรกของประเทศไทย โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยและสวนสัตว์นครราชสีมา ซึ่งเป็น “ลูกพญาแร้ง” เพศเมีย เกิดจากแม่ชื่อว่า “นุ้ย” และพ่อชื่อ “แจ็ค” หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลกและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ฯ มาระยะหนึ่งแล้ว นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยหลังรอมานานกว่า 30 ปี
ทั้งนี้ “ลูกพญาแร้ง” เพศเมียดังกล่าวนับว่าเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกของประเทศไทย และขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยแม่พญาแร้งได้ออกไข่ใบแรกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ฯ ได้นำเข้าตู้ฟักเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ซึ่งธรรมชาติของพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูกาลผสมพันธุ์
แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่ฯ โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น โดยหวังให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่ 2 จนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ได้เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย ที่แม่พญาแร้งสามารถออกไข่ใบที่ 2 ได้สำเร็จ
ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเองเพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ และเราอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรกได้ฟักออกมาเป็นตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วัน
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า “ในโลกมีแร้งทั้งหมด 23 ชนิด ซึ่งในประเทศไทยจะพบได้ 5 ชนิด รวมถึง พญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบแร้งประจำถิ่นในธรรมชาติอีกเลย โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง พบซากพญาแร้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535”
“ทั้งนี้ แร้งทุกชนิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพญาแร้ง ที่มีสถานภาพเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ (CR) ตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในส่วนเอเชียเป็นนกประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต มีประชากรในธรรมชาติไม่ถึง 9,000 ตัวทั่วโลก”
นายอรรถพร กล่าวอีกว่า “การเกิดขึ้นของลูกพญาแร้งในสถานที่เพาะเลี้ยง (สวนสัตว์) ถือเป็นเรื่องยากมาก ในปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งแค่ในสถานที่เพาะเลี้ยงเพียง 6 ตัวเท่านั้น ซึ่งสวนสัตว์นครราชสีมามีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี พ่อแม่พญาแร้งคู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ”
“จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยงทั่วโลกมีเพียงแค่ประเทศเทศอิตาลี และประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง และเป็นตัวแรกของเอเชีย นับเป็นความสำเร็จระดับโลกขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ ด้านการอนุรักษ์ และวิจัยในการเติมประชากรในอนาคต” นายอรรถพร กล่าวทิ้งท้าย