เปิดเผยแล้ว! หญิงปริศนาที่เป็นต้นแบบปั้นใบหน้าท้าวสุรนารี (ย่าโม) สัญลักษณ์แห่งเมืองโคราช คือ “นางเชื่อม” พร้อมเผยค่าจ้างให้มานั่งเป็นแบบ 3 วัน แต่นางลดาวัลย์ วรรณบูรณ์ เหลนคุณย่าโมรุ่นที่ 5 บันทึกไว้ว่า ทางจังหวัดได้ขอให้ นางนิ่ม เมนะรุจิ ณ ราชสีมา ภรรยา “พระบุรคามบริรักษ์” เป็นหุ่นในการสร้างโดย “อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี”

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 เฟซบุ๊ก Tanin Soontranon ของ “ธานินทร์ สุนทรานนท์” มีการเปิดเผยเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการปั้นอนุสาวรีย์ห้าวสุรนารี หรือ “ย่าโม” โดยในเอกสารระบุว่า

“เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2477 ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ ได้รับเงินค่าจ้างนั่งเป็นแบบสำหรับการปั้นรูปในการทำอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของกองประณีตศิลปกรรม รวม 1 วัน เป็นเงิน 1 บาท ได้รับเงินจำนวนนี้ไปเสร็จแล้ว พร้อมกับมีการลงชื่อ “นางเชื่อม” เป็นผู้รับเงินเอาไว้”

หลังจากมีการเปิดเผยเอกสาร ทำให้ทุกคนทราบว่า “นางเชื่อม” คือต้นแบบใบหน้าของ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม” และนางเชื่อม นั่งเป็นแบบอยู่ 3 วัน จึงได้เงินค่าจ้างไป 3 บาท ตกวันละบาท ส่วนในเอกสารเป็นการรับเงินแบบวันต่อวัน

ทั้งนี้ หลายคนสงสัยว่า เงิน 3 บาทที่นางเชื่อมได้รับนั้น ถ้าเทียบอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน นางเชื่อมจะได้รับค่าจ้างเท่าไรกันแน่ มีคนคาดการณ์ว่า ยุคนั้น เงิน 3 บาท อาจจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทในยุคนี้ แต่ก็มีอีกคนคิดแบบคร่าว ๆ น่าจะราว ๆ 2,000 บาท หรืออาจจะเท่ากับทองคำประมาณครึ่งสลึง

ด้านเว็บไซต์ “สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา” เปิดเผยถึงประวัติอนุสาวรีย์ย่าโมว่า “อนุสาวรีย์ย่าโมสร้างขึ้นในปี 2476 โดยครูงานศิลป์ชื่อดังอย่าง “อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี” ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร นักจิตรกรรมชื่อดังที่มีผลงานรูปปั้นทั่วไทย เเละ “พระเทวาภินิมมิต” ซึ่งพื้นเพเป็นชาวนครราชสีมา ร่วมกันออกแบบ หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) ทำพิธีเปิดในปี พ.ศ. 2477 และซ่อมแซมส่วนฐานอนุสาวรีย์เพื่อบรรจุอัฐิย่าโม ปี 2510 ตามที่เห็นปัจจุบัน”

ทั้งนี้ “กรมศิลปากร” กำหนดให้ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” และ “ประตูชุมพล” พร้อมด้วยแนวกำแพงเมืองนครราชสีมา ใบเสมาข้างละ 10 ใบ ที่ยืดออกจากประตูชุมพล เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในปี พ.ศ.2480

นอกจากนี้ยังมีการแชร์เอกสาร จากหนังสือที่ระลึกงานศพ นางลดาวัลย์ วรรณบูรณ์ เหลนคุณย่าโมรุ่นที่ 5 เมื่อเดือนมีนาคม 2556 บันทึกไว้ว่า เดิมอัฐิของท้าวสุรนารีบรรจุไว้ที่วัดศาลาลอย ต่อมาภายหลังเจดีย์บรรจุอัฐิชารุด จึงได้สร้างกู่บรรจุไว้ที่วัดกลางหรือวัดพระนารายณ์ โดยสร้างไว้ที่มุมวัดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ต่อมาภายหลังเมื่อมี การสร้างอนุสาวรีย์รูปท้าวสุรนารีที่หน้าประตูชุมพล จึงนําอัฐิท้าวสุรนารีไปบรรจุไว้ในฐานรองรับ ครั้นฐานอนุสาวรีย์ชํารุด จึงสร้างฐานอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ และนําอัฐิท้าวสุรนารีบรรจุไว้ในฐานเช่นเดิม นางทองคํา ชาตะวราหะ ภรรยา นายถนอม ชาตะวราหะ เล่าว่า นายสอน ชาตะวราหะ น้าของตนได้ไปขอแบ่ง อัฐิท้าวสุรนารีจากผู้ว่าราชการจังหวัด โดยใส่ในผอบทองนําไปบรรจุไว้ในเจดีย์ ที่นายสอนสร้างไว้ทางทิศเหนือของโบสถ์วัดศาลาลอย มีประชาชนทั่วไป กราบไหว้บูชาเสมอมาจนถึงปัจจุบันนี้

ทั้งนี้ นางลดาวัลย์ บันทึกเรื่องแบบปั้น “คุณหญิงโม” ว่า “คุณยายเล่าว่าในการสร้างรูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทางจังหวัดได้ขอให้ นางนิ่ม เมนะรุจิ ณ ราชสีมา ภรรยา “พระบุรคามบริรักษ์” เป็นหุ่นในการสร้าง”

ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม (ต้นฉบับว่า ท่านผู้หญิงโม้) หรือที่นิยมเรียกว่า ย่าโม (พ.ศ. 2314 – พ.ศ. 2395) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยในฐานะวีรสตรีมีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังคุณหญิงโมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี”

(Cr.ข่าวเว็ปไซต์ T News และ Snook)