“กรมทางหลวง” ลุยแล้วฟื้นชีพโปรเจ็กต์เก่า “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล21โคราช” มูลค่า 480 ล้าน หลังเคยถูกชาวโคราชคัดค้านและเบรกโครงการไป 10 กว่าปี ล่าสุด! พร้อมรีเทิร์นกลับมาหลังครม.อนุมัติงบปี 2566 พร้อม “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” อีก 850 ล้าน เล็งสร้างอุโมงค์ทางลอดแพ็คคู่พร้อมกัน จะได้แก้ปัญหาจราจรติดช่วงก่อสร้างครั้งเดียวจบ คาดเซ็นสัญญาสรุปผู้รับเหมาไม่เกินกันยายนนี้ เริ่มสร้างปี 2567 เสร็จไม่เกิน 3 ปี

หลังจาก ครม.อนุมัติงบปี 2566 ให้สร้างโครงการ “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล21โคราช” วงเงิน 480 ล้านบาท และ ก่อสร้าง “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” งบอีก 850 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการอยู่ระหว่างประกาศจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับเหมาเข้าร่วมประมูลให้แล้วเสร็จช้าสุดไม่เกินเดือนกันยายน 2566 และจะดำเนินการก่อสร้างใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกขณะก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่โครงการ ทำให้การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัวและใช้เส้นทางอ้อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และช่วงปลายเดือนมีนาคม กรมทางหลวงจะจัดกระบวนการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับทั้ง 2 โครงการ นำโจทย์ที่เป็นข้อเสนอแนวทางบรรเทาปัญหาจราจรมาพิจารณา ทบทวนปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับการเดินทางของคนเมืองอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์การค้า “เทอร์มินอล21โคราช” กลุ่มสภาพลเมืองโคราช จัดเวทีเสวนา “ชาวโคราชเฮ! ปลายปี 66 ขุดสร้างอุโมงค์ 2 แห่ง ผ่าตัวเมือง แก้จราจรคับคั่ง-ลดอุบัติเหตุ” โดยมีตัวแทนสถานประกอบการและประชาชนชาวโคราช พร้อมด้วยนักธุรกิจอดีตประธานหอการค้าโคราช นายอรชัย ปุณณะนิธิ และเภสัชกรจักริน เชิดฉาย พร้อมด้วย 2 ห้างใหญ่ คุณปพิชญา ณ นครพนม ผอ.เทอร์มินอล21โคราช, นายปรีชา ลิ้มอั่ว ผจก.ทั่วไปฯเดอะมอลล์โคราช และยังมี นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส เขต 2 พรรคชาติพัฒนา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส เขต 1 จ.นครราชสีมา และนักการเมืองท้องถิ่นให้ความสนใจมาร่วม และแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคักกว่า 200 คน

ภายในงานมี นายพรชัย ศิลารมย์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวง นครราชสีมาที่ 2 และดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด และประธานที่ปรึกษาหอการค้าจ.นครราชสีมา ร่วมกันเปิดเวทีชี้แจงให้ความรู้และทำความเข้าใจขั้นตอนการดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณแยกเทอร์มินอล21โคราช และแยกประโดก รวมทั้งเปิดโอกาสให้เสนอแนวทางบรรเทาปัญหาจราจรคับคั่งช่วงก่อสร้าง

นายพรชัย ศิลารมย์ กล่าวว่า “สภาพการจราจรคับคั่งบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถ.มิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา (เทอร์มินอล) และทางแยกประโดก (พีกาซัส) ซึ่งมีปริมาณรถต่อวันประมาณ 1.2 แสนคัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวก และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า 10 ปี “กรมทางหลวง” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณทั้ง 2 จุดตัด เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าและชาวโคราชส่วนหนึ่งทำให้ต้องชะลอโครงการ”

“ที่ผ่านมาได้จัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจรรวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจรแต่ไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางอย่างเพียงพอรวมทั้งปัญหาหลากหลาย โดยนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด ถ.มิตรภาพ ตัด ถ.ช้างเผือก (แยกประโดก) และ ถ.มิตรภาพ ตัดทางหลวง 224 (แยกนครราชสีมาหรือแยกเทอร์มินอล)”

“ทั้ง 2 โครงการทางลอดกลางเมืองโคราช ที่พร้อมจะบอกคนโคราชว่ามาแน่ ส่วนผลกระทบที่จะตามมาช่วงก่อสร้างเช่น การจราจร การระบายน้ำที่ต้องพิจารณาทั้งระบบ และผลกระทบเรื่องการค้าขายทั้ง 2 ข้างทางทุกคนที่มาฟังวันนี้ได้เสนอหลายแนวทางเพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยอยากให้การก่อสร้างเร็วกว่านี้จะได้หรือไม่”

“อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเริ่มสร้างจะมีการรับฟังความคิดเห็นต่างๆจากผู้ได้รับผลกระทบจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการแน่นอน ซึ่ง “อุโมงค์ทางลอดแยกเทอร์มินอล” ใช้งบ 480 ล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 32 เดือนหรือ 2 ปีกว่า ส่วน “อุโมงค์ทางลอดแยกประโดก” งบอีก 850 ล้านบาท ระยะเวลาสร้าง 36 เดือนหรือ 3 ปี โดยวางแผนจะสร้างพร้อมกันแบบแพ็กคู่เพื่อให้กระทบครั้งเดียว” นายพรชัย กล่าว

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาชาวโคราช ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารการก่อสร้างอุโมงค์บริเวณทางแยกทั้ง 2 จุด สถานการณ์ปัจจุบันเป็นทางหลักผ่านตัวเมืองและประตูสู่ 20 จังหวัดของภาคอีสาน กิจกรรมครั้งนี้เป็นการกระตุ้นการรับรู้ภาคประชาชนให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อนำเสนอปัญหาผลกระทบทุกมิติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างก่อสร้างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ จราจร และวิถีชุมชนสังคม”

“โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม และการระบายปริมาณจราจร รวมทั้งส่งสารถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบนำไปวางแผนเตรียมป้องกันแก้ไขเยียวยา ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันให้โครงการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาเดินหน้าต่อไปได้และตรงต่อวัตถุประสงค์ของภาครัฐและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน”

“คาดหวังการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัด / อปท. / จราจรและอื่นๆ จะได้ร่วมคิดร่วมทำแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการก่อสร้างให้ใช้เวลาน้อยกว่าแผนที่วางไว้ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ การค้าขาย การวางแผนการจราจรทางเลี่ยงต่างๆ การปรับปรุงผิวทางเลี่ยงและองค์ประกอบแวดล้อม การเข้มงวดการก่อสร้างทางด้านสิ่งแวดล้อม เสียง ฝุ่น ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและอื่นๆ” นายชัยวัฒน์ กล่าว