การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวโคราช ครั้งล่าสุด! พร้อมปิดฉากล้มโปรเจ็กต์ “แทรมโคราช” ลงทุนสูงสวนกลับค้านผลศึกษา สนข. อวสาน “รถไฟฟ้ารางเบา” อย่างเป็นทางการ ไม่คุ้มค่า หากสร้างไปเจ๊งแน่ๆคาดผู้โดยสารไม่คุ้มทุน เสนอ 3 ทางเลือกใหม่เล็ง “รถเมล์ไฟฟ้า BRT” รองลงมา “รถรางไฟฟ้าล้อยาง” และ “รถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก”

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ณ ห้องสุรนารีบอลรูม โรงแรม ดิ อิมพีเรียล โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบ ทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม สําหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์)

โดยภายในงานมีผู้นําชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมการ ประชุมกว่า 250 คน

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า “สืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุน พบว่า โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัด นครราชสีมา สายสีเขียวฯ มีมูลค่าการลงทุนสูง รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบํารุงรักษา และ ต่อมาในปี 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและ พิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึก ข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา NMGC ให้ดําเนินการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยี รถไฟฟ้าที่เหมาะสมสําหรับโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา และนํามาสู่การจัดประชุมรับฟัง ความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้”

“ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลมอบ รฟม. ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการฯ ตามผลการศึกษาและแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) สาเหตุที่ต้องจัดรับฟังความคิดเห็นเนื่องจากผลการศึกษาฯ พบว่า การลงทุนโครงการมีผลตอบแทนทางธุรกิจที่ไม่คุ้มค่า รฟม. จึงใช้โอกาสช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทบทวนระบบรถไฟฟ้ารูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับโครงการมากกว่า”

“การประชุมครั้งนี้จึงเป็นครั้งพิเศษเพื่อนำเสนอผลเปรียบเทียบรูปแบบรถไฟฟ้าฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งความคิดเห็นที่ได้รับ จะนำไปพิจารณาและปรับปรุงผลการศึกษาฯ เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป”

นายสาโรจน์ กล่าวอีกว่า “ซึ่งเป็นการนําเสนอผลการศึกษาระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้า 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบ Steel Wheel Tram รถไฟฟ้ารางเบาหรือรถราง โดยใช้ระบบล้อเลื่อน (Rolling Stock), 2. ระบบ Tire Tram รถรางชนิดใช้ล้อยาง ที่มีระบบ ติดตั้งอุปกรณ์รางประคอง (Guided Light Transit) หรือระบบรางเสมือน (Track Less) และ 3. ระบบ E-BRT (Electric Bus Rapid Transit) รถโดยสารไฟฟ้าประจําทางด่วนพิเศษ ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ไม่มีราง โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 ระบบ ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุนและผลตอบแทน  และด้านสิ่งแวดล้อม”

“ผลการให้คะแนนโดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร, เศรษฐกิจการเงิน และสิ่งแวดล้อม พบว่า ระบบรถโดยสาร E-BRT เหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากระยะเวลาก่อสร้าง ค่าลงทุนงานก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง และมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างน้อยกว่าระบบอื่นๆ”

“รองลงมาคือ “รถรางไฟฟ้าล้อยาง” มีศักยภาพรองรับผู้โดยสาร และความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีมากกว่า E-BRT แต่มีระยะเวลาการก่อสร้าง มูลค่าการลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างมากกว่า”

“ขณะที่ “รถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก” มีคะแนนน้อยที่สุด เพราะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง และดำเนินการต่างๆ มากกว่าระบบอื่นๆ สำหรับวงเงินลงทุนโครงการรถโดยสาร E-BRT อยู่ที่ประมาณ 2,339 ล้านบาท รถรางไฟฟ้าล้อยาง 4,732 ล้านบาท และรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก  5,393 ล้านบาท”

“โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาสายสีเขียวนี้ สนข. มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก ระยะทาง11.15 กม.มี  21 สถานี (อยู่บนทางหลวง 9 สถานี และอยู่ในเขตเมือง 12 สถานี) ได้แก่ สถานีมิตรภาพ 1 สถานีสามแยกปักธงชัย สถานีมิตรภาพ 2 สถานีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ สถานีสวนภูมิรักษ์ สถานีหัวรถไฟ สถานีเทศบาลนคร สถานีศาลเจ้าวัดแจ้ง สถานีโพธิ์กลาง”

“และสถานีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สถานีแยก ประปา สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา สถานีราชภัฎฯ สถานีราชมงคล สถานีบ้านเมตตา สถานีบ้านนารีสวัสดิ์ สถานี ชุมพล สถานีศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา สถานีไปรษณีย์จอมสุรางค์ สถานีวัดแจ้งใน และสถานีดับเพลิง โดยมีศูนย์ซ่อมบํารุง 1 แห่ง บริเวณปลายทางสถานีบ้านนารีสวัสดิ์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 68 และเปิดบริการปี 71” นายสาโรจน์ กล่าว