โคราชวางศิลาฤกษ์สร้าง “พุทธมณฑลนครราชสีมา” ริมถนนสายนครราชสีมา-โชคชัย บ้านหนองแหน ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง โคราช ห่างจากตัวเมือง 15 กม. สร้างเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนา บนที่ดินราชพัสดุกว่า 200 ไร่ ใช้สร้าง 52 ไร่ ใช้งบราว 400-500 ล้าน สุดอัศจรรย์เกิดปรากฎการณ์ “พระอาทิตย์ทรงกลด” กลางพิธีมหามงคล

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 ที่มณฑลพิธีที่ดินราชพัสดุ ริมทางหลวง 224 กิโลเมตรที่ 15 ถนนราชสีมา-โชคชัย หมู่ที่ 7 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือเจ้าประคุณธงชัยกรรมการมหาเถรสมาคมเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดไตรมิตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พุทธมณฑลจังหวัดนครราชสีมา

โดยมีพระธรรมเจดีย์ เจ้าคณะภาค 11 พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา พลโทสวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 นายวินัย ปุณยรัชตปรีดา ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา  นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพุทธศาสนิกชน จำนวนมาก ร่วมพิธีมหามงคล

สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานสงฆ์ กล่าวสัมโมทนียกถา พร้อมเจิมแผ่นศิลาฤกษ์จากนั้นได้ร่วมกับ ผู้ว่าฯวิเชียร และผู้มีเกียรติ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ประธานฝ่ายฆราวาสถวายเครื่องไทยธรรม  ขณะนั้นปรากฏเป็นความอัศจรรย์บนท้องฟ้า เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้น ถือเป็นสิริมงคลแก่ผู้ร่วมพิธี ต่างพากันอธิฐานขอพร จากนั้นทั้งหมดกรวดน้ำรับพรจากคณะสงฆ์อันเป็นเสร็จพิธี

พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “การจัดสร้างพุทธมณฑลอีสานหรือพุทธมณฑลจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พระพุทธศาสนาซึ่งมหาเถรสมาคมที่เป็นองค์กรปกครองสงฆ์ต้องการให้แต่ละจังหวัดมีพุทธมณฑลจังหวัดละ 1 แห่ง ที่ราชพัสดุแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 200 กว่าไร่ เป็นพื้นที่ก่อสร้างพุทธมลฑณฯ แห่งนี้มีขนาด 52 ไร่ 11 ตารางวา ด้านในมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเมืองและจัดกิจกรรมรองรับการประชุมได้ 5,000-10,000 คน เพื่อเกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อพุทธศาสนิกชน” 

ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ที่ดินแปลงนี้มีความเหมาะสมห่างจากตัวเมือง ประมาณ 15 กิโลเมตร การดูพื้นที่ต้องมีการปรับตามฝังที่กำหนดไว้ โดยวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้ออกแบบและขอสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างทั้งจากรัฐและเงินบริจาคที่ได้จากแรงศรัทธาของประชาชน”

“คาดใช้งบดำเนินการประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา เป็นศูนย์กลางฝึกอบรมปฏิบัติธรรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานการเข้าค่ายคุณธรรมและการพัฒนาจิตใจของประชาชน ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงถาวรสืบไป”