วันสำคัญเมืองโคราช “วัดพระนารายณ์ฯ” จัด 3 พิธีใหญ่อัญเชิญ “พระบรมสารีริกธาตุ” และ “พระคันธารราฐ” ประดิษฐานในพระเจดีย์ และ “ยกฉัตรพระเจดีย์” เป็นพระเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นพระเจดีย์ใหญ่คู่กับพระวิหารหลวง วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร
วันที่ 10 กันยายน 2565 เวลา 09:09 น. ที่บริเวณสถานที่ก่อสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีพิธี “บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อัญเชิญพระคันธารราฐ และยกฉัตรพระเจดีย์” บริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกติดกับถนนประจักษ์ โดยมี พระธรรมวรนายก ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชนชาวโคราชมาร่วมพิธี
จากนั้นได้ร่วมถวายผ้าป่าสมทบทุนสร้างฉัตรและบูรณพระเจดีย์ โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส เขต 1 จ.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย พลโทสวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รอง ผวจ.นครราชสีมา นายวิจิตร กิจรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการศาลเจ้าหลักเมืองนครราชสีมา และชาวโคราชกว่า 500 คน ร่วมประกอบพิธีมหามงคล
โดยพระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์และเจริญชัยมงคลคาถา ประธานสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล เจ้าหน้าที่อ่านหมายรับสั่งพระราชวัง นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา ประธานฝ่ายฆราวาสเชิญผ้าไตรพระราชทานถวายประธานสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์อันเป็นเสร็จพิธี
สำหรับ “พระเจดีย์วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” เป็นพระเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นพระเจดีย์ใหญ่คู่กับพระวิหารหลวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประวิหารอันเป็นสีสง่างามแก่เมืองนครราชสีมา ต่อมาได้ถูกข้าศึกศัตรูทำลายสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2369 พร้อมกับพระวิหารหลวง ต่อมาพันเอกพระยาประสิทธิศิลการ (สะอาด สิงหเสนี) ได้ทำการบูรณะขึ้นมาใหม่ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมาจวนจะสำเร็จจึงมีเหตุสุดวิสัยทำให้พระเจดีย์พังทลายลงมา พระเจดีย์ในเวลานั้นเหลือเพียงส่วนฐาน
ปัจจุบันจึงได้บูรณะสร้างครอบพระเจดีย์เดิมขึ้นมาใหม่จนแล้วเสร็จ จึงทำให้มีการ “ยกฉัตรพระเจดีย์” เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ขององค์พระเจดีย์ขึ้นในครั้งนี้