พร้อมลุยเต็มสปีด! “เทศบาลโคราช” สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่โคราช โคลนนิ่ง “คลองชองเกชอน” ชื่อดังของเกาหลี พลิกโฉมลำตะคองกลางเมืองจากหลังโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) ถึงอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ ระยะทาง 2,500 เมตร เฟสเเรก 700 เมตร ช่วง ร.ร.อัสสัมชัญ-วัดสุสาน กำหนดเสร็จปลายปี 2566

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ริมลำตะคอง บริเวณเส้นทางคลองลำตะคอง ช่วงไหลผ่านข้างโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา นายเกษม ศุภรานนท์ ในฐานะ ส.ส.เขตพื้นที่ พร้อมนายพุทธชาติ สามงาม วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง ระยะเร่งด่วน จุดเริ่มต้นหลังโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) ถึงตัวอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ ระยะทางประมาณ 2,500 เมตร

โดยมีนายวรายุทธ ภูมิอ่อน ผู้จัดการโครงการ ชี้แจงความคืบหน้าการก่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันตลิ่ง ปรับปรุงสวนอิงธาร สร้างสะพานเชื่อมทางเดิน 2 ฝั่งคลองและทางเดินริมลำตะคอง โดยมีลานกิจกรรม ประติมากรรมเครื่องปั้นดินเผา ศาลาริมน้ำรวมทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำอัษฎางค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันท่วมซ้ำซาก พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามเป็นเมืองน่าอยู่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชนรวมทั้งเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางเมือง ขณะนี้รอการส่งมอบเสาเข็มจำนวน 2,266 ต้น มาใช้เป็นตอม่อสร้างแนวสันเขื่อนริมตลิ่ง

นายเกษม ศุภรานนท์ เปิดเผยว่า “ลําตะคองเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคของคนเมืองโคราชและเป็นสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ในสมัยท้าวสุรนารี (ย่าโม) ชนะศึกสงครามที่ทุ่งสัมฤทธิ์และได้ทำพิธีขอขมาพระแม่คงคาลอยกระทงในลำตะคอง ต่อมาในขณะที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตร ได้สนับสนุนและผลักดันงบประมาณดำเนินโครงการให้ชาวโคราชได้มีสถานที่เป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่”

“สร้างเป็นแลนด์มาร์คภูมิทัศน์โฉมใหม่ให้สวยน้ำใส ปรับปรุงลำตะคองช่วงไหลผ่านกลางเมือง ซึ่งมีปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมให้เหมือน “คลองชองเกชอน” ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งลงเล่นน้ำพักผ่อนหย่อนใจและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ซึ่งเป็นการพลิกฟื้นวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ โดยในอนาคตจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับลำตะคองเป็นประจำ”

นายพุทธชาติ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า “แนวทางการออกแบบของโครงการเน้นใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 700 วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เสร็จสิ้นปลายปี 2566 ใช้งบประมาณ 118 ล้านบาท ในเฟสแรก ช่วง ร.ร.อัสสัมชัญ-วัดสุสาน ระยะทาง 725 เมตร”