มทส. จับมือภาคเอกชนวิสาหกิจเพื่อสังคม พลิกพื้นที่กว่า 42 ไร่ ใน “มายโอโซนเขาใหญ่” อ.ปากช่อง โคราช วิจัยและพัฒนา พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. สร้างอาชีพสู่เกษตรกร สร้างรายได้สู่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เนรมิตโรงเรือนปลูกกัญชา-กัญชง ครบวงจรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย และแผนปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จับมือองค์กรภาคเอกชน ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด และ  บริษัท ฮานนาบิส โกลบอล จำกัด ร่วมสร้างคลัสเตอร์กัญชง-กัญชา พืชเศรษฐกิจใหม่ที่เข้มแข็งของประเทศในพื้นที่กว่า 40 ไร่ ที่ “มายโอโซนเขาใหญ่” พร้อมผลักดันเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยทีมนักวิจัย มทส. ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านการผลิตตั้งแต่การเตรียมวัสดุ การดูแลรักษาถึงการเก็บเกี่ยว พร้อมรวบรวมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข คิดค้นนวัตกรรมการใช้สารสำคัญในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ณ “มายโอโซนเขาใหญ่” จ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รักษาการแทนอธิการบดี มทส. ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด โดย นางศิริญา เทพเจริญ กรรมการผู้จัดการ และ บริษัท ฮานนาบิส โกลบอล จำกัด โดย นายจุติวัฒน์ เสงี่ยมศักดิกร กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม  เพื่อความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีกัญชา-กัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข 

พร้อมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตกัญชา-กัญชงเพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพสูง  สร้างฐานพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยใช้ในพื้นที่ภายใน “มายโอโซนเขาใหญ่” กว่า 42 ไร่ หวังขยายเป็นแหล่งเรียนรู้สู่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ  มทส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสามฝ่ายเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รักษาการแทนอธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยได้เริ่มโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” เมื่อประมาณกลางปี 2563 นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด และคณะ เพื่อให้โครงการนี้ เป็นแหล่งองค์ความรู้เทคโนโลยี และคลัสเตอร์วิจัยด้านกัญชา-กัญชง ที่สำคัญที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศ ทั้งด้านงานวิจัยนวัตกรรม การพัฒนากัญชา-กัญชงระดับคุณภาพ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน”

“จากการสั่งสมองความรู้ ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย มทส. ทำให้ผลผลิตกัญชาที่ผ่านมา ได้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากหน่วยงานระดับประเทศว่า มีคุณภาพดีเยี่ยมในระดับ Medical Grade ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูงและไม่มีโลหะหนักตกค้าง สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย และแผนปัจจุบัน อีกทั้งส่วนประกอบของต้นกัญชาอื่นๆ ที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ปัจจุบันได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้จำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผลผลิตกัญชาของมหาวิทยาลัย ได้รับความสนใจจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างหลากหลาย อาทิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นต้น”

“ผมเชื่อมั่นว่า โครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มทส. สามารถยืนเป็นที่หนึ่งของประเทศไทย ในความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ การปรับแปลงเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชาที่เหมาะสมอย่างครบวงจร ตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะกล้า การเตรียมวัสดุปลูก การดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพตามมาตรฐาน ร่วมถึงการให้คำปรึกษาในการจัดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามขั้นตอนทางกฎหมายกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและประเทศ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม”

“ในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาที่สามารถประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ร่วมผลักดันให้พืชเศรษฐกิจใหม่นี้ได้สร้างอาชีพสู่เกษตรกร สร้างรายได้สู่วิสาหกิจชุมชน สร้างโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพ และหากเมื่อความร่วมมือในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ เชื่อว่าจะสามารถเป็นต้นแบบในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางวิชาการสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.อนันต์ กล่าว

คุณศิริญา เทพเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ณุศา ซีเอสอาร์ จำกัด เปิดเผยว่า “จากแนวคิดของความต้องการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางเกษตรของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรของไทยหลายชนิดให้ก้าวไปสู่มาตรฐานระดับโลก ประกอบกับปัจจุบันภาครัฐพยายามที่จะผลักดันให้กัญชง-กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ ด้วยการคลายล็อกข้อกฎหมายหลายจุดสามารถให้กลุ่มวิสาหกิจได้เข้าถึงการครอบครองกัญชา-กัญชง ได้ภายใต้กรอบข้อกำหนด”

“รวมถึงพบว่าในต่างประเทศผลิตภัณฑ์กัญชาคุณภาพเป็นยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งด้านบำบัดรักษาโรค เสริมความงาม อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น กลุ่มบริษัทจึงได้เล็งเห็นว่า หากกัญชาสายพันธุ์ไทยได้รับการวิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เชื่อว่ากัญชง-กัญชาสายพันธุ์ไทยมีคุณสมบัติพิเศษให้สารสำคัญออกฤทธิ์สูงได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  เมื่อได้วัตถุดิบคุณภาพสูงการต่อยอดสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้หลากหลายอย่างแน่นอน” 

คุณศิริญา กล่าวอีกว่า “ในเบื้องต้นกลุ่มบริษัทฯ จะได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบผลสำเร็จในการผลิตกัญชาคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชา โดยจะใช้พื้นที่กว่า 42 ไร่ ภายในบริเวณ “มายโอโซน เขาใหญ่” อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นที่ตั้งโรงเรือนปลูกกัญชา-กัญชง อย่างครบวงจร ภายใต้คำปรึกษาจากทีมนักวิจัย มทส. ตลอดโครงการความร่วมมือ ระยะ 5 ปี นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด และคณะ ตั้งแต่การสร้างโรงเรือนระบบปิด การวางระบบความปลอดภัยตามข้อกำหนด การเตรียมวัสดุปลูก การเพาะกล้า การปลูก บำรุงรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิต”

“กระทั่งการเก็บรักษา เพื่อให้ได้วัตถุดิบตั้งต้นคุณภาพสูง การปลูกนั้นจะอยู่ในรูปแบบเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง แผนต่อไปจะขยายผลเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจ อีกทั้งจะได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ภายใต้การรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” 

“ซึ่งจากฐานเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่แสดงการตอบรับแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีด้านกัญชา-กัญชงคุณภาพของประเทศไทย คาดว่าจะให้ผลเป็นรูปธรรมในอนาคต ถือเป็นการร่วมเสริมรายได้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง” คุณศิริญา กล่าวทิ้งท้าย