“จังหวัด-สภาอุตสาหกรรมโคราช” ใส่เกียร์เดินเครื่องดึง “ท่าเรือบก DRY PORT” กับเมืองขอนแก่น พร้อมเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ผู้ว่าฯมั่นใจศักยภาพเมืองมีความได้เปรียบเสนอ 2 จุดเหมาะสม บริเวณตำบลหนองน้ำขุ่น อ.สีคิ้ว และบริเวณตำบลนากลาง – ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน พร้อมระบุโคราชขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ปีละกว่า 3 แสนตู้/ปี มั่นใจศักยภาพเมืองที่มีโครงข่ายคมนาคมรองรับทั้งทางรางและถนนเหมาะเป็นท่าเรือบกของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2561 ที่ห้องประชุม ศาลากลาง จ.นครราชสีมา ได้มีการบรรยายพิเศษ “ความพร้อมเชิงเนื้อที่จังหวัดนครราชสีมา สำหรับการเป็นจุดที่ตั้ง DRY PORT” โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และนายหัสดิน สุวัฒนพงศ์เชฎ ปธ.สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมด้วย ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ที่ปรึกษาโครงการฯ ร่วมแสดงความคิดเห็น
นายหัสดิน สุวัฒนพงศ์เชฎ ปธ.สภาอุตสาหกรรมโคราช กล่าวว่า “ท่าเรือบก หรือ DRY PORT ที่ตนรับหน้าที่จากจังหวัดฯให้ดูแลและดำเนินการ เราเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาแน่นอน ซึ่งขั้นตอนต่อไปของทางภาคเอกชน ก็คือต้องไปหาผู้ร่วมทุนคือ สายเรือ ที่จะเข้ามาก็ได้คุยเบื้องต้นแล้ว และสนใจที่จะมา ซึ่งโคราชจะกำหนดอย่างไรที่จะสามารถดึงสินค้ามาผ่านจุดของเราได้อย่างไรให้เร็วที่สุด ภาคเอกชนต้องไปหาผู้ร่วมทุน หาสายเรือมาร่วมทำงานเพื่อให้เกิด Dry Port ขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาอย่างจริงจัง”
“สำหรับท่าเรือบกโคราช คิดว่าเกิดขึ้นแน่นอน แต่วิธีการลงทุน 1,800 ไร่มันใหญ่มาก ซึ่งในรายละเอียดของการทำโครงการยังไม่ได้ระบุว่า เราจะขอเช่าแค่ 400 ไร่ก่อนหรือไม่ ถ้าสามารถทำให้ระบุในโครงการว่าใช้พื้นที่ 400 ไร่ รัฐบาลลงทุน อาคาร สถานที่ ถนนทางเข้า ถนนในโครงการ การถมที่ หรือ รางรถไฟจะเป็นของใครที่มีการลงทุน และเรื่องที่ภาคเอกชนลงทุนคือ โกดังสินค้า ลาน การเท ลานเพื่อที่จะวางตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งเบาและหนัก เรื่องเครน เรื่องรถยก ที่จะยกจากรถยนต์ไปหารถไฟ อันนี้น่าจะเป็นของเอกชน ถ้ารายละเอียดเหล่านี้มีการดำเนินการจบสิ้นก็จะทำให้การพิจารณาความเป็นไปได้เกิดขึ้นได้จริง”
“งบลงทุนตั้งไว้ 1 พันล้าน ซึ่งการลงทุนด้านต่างๆในภาคเอกชนเกิดขึ้นแน่นอนในโคราช และจะทำให้เงินหมุนเวียน ต้นทุนการขนส่งสินค้าจาก จ.นครราชสีมาไปท่าเรือก็จะต่ำลง โดยไม่ต่ำกว่า 20 % ซึ่งจริงๆอยากให้เป็น 35% เพื่อให้เกิดการลงทุนของโรงงานอย่างต่อเนื่องในจังหวัดอีกเป็นหลัก 10,000 ล้าน ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐจะได้ คือ เก็บภาษีอากรมากขึ้นโดยการลงทุนจากภาคเอกชน และจะทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดความหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และ จ.นครราชสีมา จะเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประเทศอีกด้วย” นายหัสดิน กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมา มีความพร้อมทุกด้านในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค และเป็นเมืองแห่งท่าเรือบก (Dry Port) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมรองรับ อาทิ ทางราง ปัจจุบัน มีเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงอีสานตอนบน จ.หนองคาย และอีสานตอนล่าง จ.อุบลราชธานี ในอนาคตมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ส่วนทางถนนมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ เชื่อมโยงอีสานตอนบน-กลาง ทางหลวง 24 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้ ทางหลวงหมายเลข 226 เชื่อมโยงอีสานตอนใต้และทางหลวง 304 เชื่อมโยงจังหวัดภาคตะวันออก ในอนาคตมีทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา และการขยายทางหลวง 304 ช่วงกบินทร์บุรี-ปักธงชัย จึงมีความเหมาะสมด้านโลจิสติกส์
“จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 7,513 แห่ง มูลค่าการส่งออกในหมวดสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกและยาง โดยมีผลผลิตมวลรวม 264,964 ล้านบาท และปริมาณการขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์กว่า 300,000 ตู้ต่อปี ซึ่งเมืองโคราชมีศักยภาพสูงและมีความเหมาะสมอย่างมากด้านที่ตั้ง ซึ่งเหมาะแก่การเป็นเมืองแห่งท่าเรือบกของภูมิภาค”
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า “สำหรับพื้นที่ตั้งท่าเรือบก จ.นครราชสีมา ได้ทำการศึกษาไว้ 2 จุด เบื้องต้น ประมาณ 700 ไร่ คือ ที่บริเวณ ต.หนองน้ำขุ่น อ.สีคิ้ว และบริเวณ ต.นากลาง-ต.กุดจิก อ.สูงเนิน ซึ่งมีศักยภาพทั้ง 2 แห่ง ขณะนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำโครงการแผนแม่บท การพัฒนาท่าเรือบก ขณะนี้ คณะที่ปรึกษาโครงการอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมของสถานที่ก่อสร้าง พัฒนาท่าเรือบกในภูมิภาค โดยมี 2 จังหวัด ที่เข้าสู่การพิจารณา คือ จ.นครราชสีมา และขอนแก่น”
“ทาง สนข. จะจัดเวทีในการรับฟังความเห็นประชาชนครั้งสุดท้ายขึ้นที่กรุงเทพฯ ก่อนสรุปข้อมูลเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการดำเนินการให้โครงการเป็นรูปธรรมต่อไป โดย จ.นครราชสีมา จะนำภาคประชาชนไปร่วมรับฟังในการประชุมครั้งสุดท้ายนี้ด้วย เชื่อว่า จ.นครราชสีมา จะได้รับการพิจารณาให้เป็นเมืองแห่งท่าเรือบกอย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว
ทางด้าน ดร.สมพงษ์ ปักษาสวรรค์ ที่ปรึกษาโครงการฯ DRY PORT กล่าวว่า “อย่างที่การศึกษาจุดที่ตั้ง DRY PORT บอกว่าโคราชก็เหมาะที่จะตั้งท่าเรือบก ความพร้อมโคราชจริงๆอยู่ที่จังหวัด จะต้องตามเชิงนโยบาย ในเรื่องของการศึกษาก็จะต้องผ่านกระทรวงคมนาคม โคราชถ้าจะเกิดได้ต้องเกิดด้วยตัวมันเองถ้าพร้อมก็จะเกิดได้ ในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองโคราชอยากให้มองตรงนี้มากกว่า”
“สำหรับการสร้างท่าเรือบกที่โคราชถือว่าเป็นโลเกชั่นที่เหมาะ เพราะภาคอีสานก็เหมาะอยู่ 2 จุด ซึ่งจุดหนึ่งก็คือโคราช สำหรับตัวของโคราชเองมีเรื่องของอุตสาหกรรมในตัว ซึ่งมูลค่าอุตสาหกรรมในการส่งออกเราเยอะมาก แต่เราก็ต้องมองในเรื่องการนำเข้าด้วย บางครั้งการนำเข้าเยอะเราก็ขาดดุลการค้า แต่จริงๆเราต้องเน้นการส่งออกก่อน เมื่อการส่งออกเยอะ การบาลานซ์ตู้ ของการ Dry Port ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เราต้องมองภาพรวม ซึ่งจังหวัดก็ต้องมองในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อ”
ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า “การที่ท่าเรือบก กับท่าเรือจริงๆก็เหมือนกันความสอดคล้องหรือเวลาส่งสินค้าออกนอกประเทศหรือนำเข้า ข้อสำคัญเราต้องพัฒนาเศรษฐกิจเรา นโยบายที่สำคัญต้องวางกลยุทธ์ตรงนี้ให้ดี สำหรับขั้นตอนต่อไปต้องมองในเรือง พีพีพี และจะวางกลยุทธ์ยังไง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ โอเปอเรเตอร์ คือ Customer ผู้มาใช้บริการ หรือฝ่ายรัฐ ตรงนี้สำคัญที่จะต้องผสมผสานกันให้ดี”
“วันนี้ก็เป็นขั้นตอนการศึกษาที่เราได้มาคุยที่โคราช เพราะโคราชอยากทราบผลการศึกษาเบื้องต้น เราก็ขออนุญาตทาง สนข. จึงได้มาชี้แจงให้ได้ฟัง ขั้นตอนก็อยู่ในช่วงการศึกษาที่จะนำไปสู่ เดือนหน้าจะมีการสัมมนาครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ สำหรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นเราต้องมององค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐาน ว่าเราพร้อมหรือยัง เพราะมันมีเรื่องรถไฟทางคู่ที่เรายังไม่เสร็จ100% และมันต้องผสมผสานระหว่างทางรางผู้โดยสารกับขนส่งสินค้า”
“สำหรับที่ขอนแก่นและโคราชจริงๆเรื่องเศรษฐกิจถ้ามันผ่านทั้งคู่มันก็ต้องทำ ก็ต้องไปในเรื่องของการออกแบบรายละเอียด ทำ พีพีพี งบประมาณในการก่อสร้าง แต่ข้อสำคัญคือการประกอบการซึ่งสำคัญที่สุดจังหวัดไหนที่เข้าใจตรงนี้อันนั้นคือสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า ซึ่งโคราชก็เป็นพื้นที่ใหญ่ สามารถดูแลในจังหวัดตัวเองได้พร้อมก็มีข้อเด่นอยู่ เราต้องใช้ข้อเด่นให้เป็นประโยชน์” ดร.สมพงษ์ กล่างทิ้งท้าย