“เอไอเอส” เดินหน้าตามโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิด “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางสายตา” ขึ้นเป็นแห่งที่ 13 ณ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดฯ สาขาโคราชแห่งแรก สร้างรายได้พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ โดยมีพนักงานเป็นผู้พิการทางสายตา 10 คน ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการด้วยภาษามือผ่านทาง Web Cam ด้านผู้ว่าฯวิเชียร ถึงกับอึ้งพนักงานใช้ผู้พิการทางสายตาทั้งหมดและสามารถปฏิบัติงานได้เหมือนคนปกติ
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2561 “เอไอเอส” เปิด “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางสายตา” ขึ้นเป็นแห่งที่ 13 ณ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด “ครอบครัว และสังคมไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน
นางวิไล เคียงประดู่ หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงนโยบายในการจัดทำโครงการเพื่อสังคมของเอไอเอสว่า “เอไอเอสให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) มาโดยตลอด รวมถึงการสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) เพื่อสร้างมูลค่าและการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมๆ กัน”
“โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศไทย ให้มีคุณภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ครอบครัว และสังคมไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง” ซึ่งในสังคมประกอบไปด้วยครอบครัวและประชาชนหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือผู้พิการ ที่เอไอเอสให้ความสำคัญ และดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเอไอเอสเชื่อว่าผู้พิการก็มีศักยภาพไม่ต่างจากคนปกติ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้”
“เอไอเอส จึงจัดโครงการ “เอไอเอส สร้างอาชีพ คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” ขึ้นโดยเริ่มจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ” แห่งแรกเมื่อปี พ.ศ.2550 และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้ว จำนวน 13 แห่ง โดยที่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สาขาจังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้ เป็นศูนย์ฯ ล่าสุด” นางวิไล กล่าว
ด้าน นางใจพร ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท แอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “เอไอเอสเล็งเห็นถึงศักยภาพของคนพิการ ที่มีผลการทำงานในระดับที่ดีเยี่ยม มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากคนปกติ ทั้งในแง่ของการให้บริการและความพึงพอใ จของลูกค้า เอไอเอสจึงเดินหน้าขยายศูนย์ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบโอกาสสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น”
“โดยศูนย์ฯ ที่เปิดให้บริการแห่งนี้ มีพนักงานผู้พิการทางสายตาปฏิบัติงานอยู่จำนวน 10 คน ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการจากศูนย์ปฏิบัติการที่เปิดให้บริการแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 123 คน”
นางใจพร กล่าวต่อว่า “โดยเอไอเอสได้ออกแบบงานให้คนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม เพื่อการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความสามารถ อาทิ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จะมีหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้า เกี่ยวกับการใช้งานหรือบริการต่างๆ ของเอไอเอส ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการด้วยภาษามือผ่านทาง Web Cam เป็นต้น”
“นอกจากนี้ เอไอเอสยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ ติดตั้งโครงข่ายออนไลน์, นำเทคโนโลยีดักจับความเคลื่อนไหวที่คีย์บอร์ด หรือสิ่งที่แสดงผลบนหน้าจอ และเปลี่ยนเป็นเสียงพูด ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับโปรแกรมตาทิพย์จากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น”
“เอไอเอสพร้อมที่จะนำเทคโนโลยี ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ รวมทั้งศักยภาพขององค์กรมาช่วยเหลือสังคม และสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้แก่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งสมาชิกของครอบครัวในสังคมไทยได้เป็นจำนวนมาก เพราะเราเชื่อว่าหากทุกคนได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเอง ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกคนแข็งแรง ส่งผลให้ครอบครัวไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง อย่างยั่งยืนต่อไป” นางวิไล กล่าวสรุป