รฟท.อาจไม่รื้ออาคาร “สถานีรถไฟโคราช” เก่าแก่ของเมืองย่าโม ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่พ.ศ.2443 สมัย “รัชกาลที่ 5” ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานีรถไฟโคราช” ได้รับความเสียหายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่เปิดใช้งาน พ.ศ.2498 รฟท.เริ่มเคลียร์พื้นที่ติดแผงกั้น พร้อมทุบอาคารพาณิชย์หน้า “สถานีรถไฟโคราช” เยื้องโรงเรียนมารีย์วิทยา หลังจากไม่มีผู้เช่าอาศัยอยู่แล้วครบทั้งหมด และพลิกโฉมใหม่สร้างสถานีสุดหรู 3 ชั้นรองรับการขนส่งโดยสาร “รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่” ล่าสุด! “อจร.นม.” เสนอ “ผู้ว่าการรถไฟ” คนใหม่ปรับแบบอนุรักษ์ “สถานีรถไฟโคราช” เก่าแก่กว่า 90 ปีอยู่คู่สถานีรถไฟโฉมใหม่
หลังจากเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 67 รฟท.ได้ประกาศจะดำเนินการรื้อ-ทุบอาคารด้านหน้าสถานีรถไฟนครราชสีมา (หัวรถไฟ) เพื่อดำเนินการตามขอบเขตงาน โดยผู้รับจ้างได้ทยอยนำเครื่องจักรหนักมาลงพื้นที่ เตรียมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการทั้งรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ พร้อมทั้งเตรียมรื้อถอนอาคาร “สถานีรถไฟนครราชสีมา” เก่าแก่ในเร็วๆนี้
ถึงแม้ว่าเมื่อต้นปี 2566 กลุ่ม 13 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดนครราชสีมา ประกอบไปด้วย “หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, ชมรมธนาคาร, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ชมรมประกอบการร้านอาหาร, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, เครือข่าย Biz Club, ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางโคราช, สมาคมโรงแรม, สมาคมอสังหาริมทรัพย์, กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมิตรภาพไทย-จีนจังหวัดนครราชสีมา, มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา และ สมาคมสมาพันธ์สื่อมวลชนพันธมิตรจังหวัดนครราชสีมา” ได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ กับ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยื่นหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมือง ให้พิจารณาอนุรักษ์ “สถานีรถไฟโคราช” ไว้ แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบไป
ล่าสุด! เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 67 ที่ทำการกลุ่มบ้านใหม่พัฒนา ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำกัด พร้อมนายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ รองประธานหอการค้านครราชสีมา ในฐานะคณะอนุกรรมการการจัดการระบบจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) และแกนนำชาวโคราชเรียกร้องให้ รฟท. ดำเนินการตาม มติ อจร.นม. ซึ่งเป็นฉันทานุมัติของทุกภาคส่วนของชาวโคราช ให้ปรับรูปแบบก่อสร้างรถไฟทางคู่และความเร็วสูง ช่วงเส้นทางผ่านเมือง จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้นำชุมชนและประชาชนในเขต ต.บ้านใหม่ และ ต.โคกกรวด อ.เมือง
ส่วนหนึ่งเป็นมวลชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ รฟท.ปรับแบบจากคันดินเป็นตอม่อช่วงทางผ่านพื้นที่และสำแดงพลังยืนขวางทางรถไฟขณะขบวนรถท้องถิ่น 234 สุรินทร์-กรุงเทพ ฯ แล่นผ่านจุดตัดทางข้ามรถไฟบ้านเดื่อ หมู่ 8 ต.โคกกรวด พร้อมเผาโลงศพประท้วง ทำให้ขบวนรถต้องหยุดรอเป็นเวลาหลายนาที บรรยากาศเป็นการชี้แจงความคืบหน้าหลังเข้าพบ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่า รฟท. ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสอบถามความคืบหน้าประเด็นข้อสั่งการของ รมว.คมนาคม เห็นชอบให้ปรับรูปแบบรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง งานสัญญาที่ 3-5 ช่วงสถานีโคกกรวดถึงสถานีนครราชสีมา ระยะทาง 12.36 กิโลเมตร
นายชัยวัฒน์ วงษ์เบญจรัตน์ รองประธานหอการค้าจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ผู้ว่ารฟท. ให้ความสำคัญถึงผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยชี้แจงไทม์ไลน์ขณะนี้กำลังปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับกายภาพของจุดตัดทางรถไฟ 9 จุด กรณีจุดตัด ถ.สืบศิริ และทางเข้ากองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ความสูงตอม่อเกิน 5 เมตร เพื่อยานพาหนะทุกชนิดสามารถแล่นผ่านได้ ตามขั้นตอนเสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบ และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสภาพัฒน์ เพื่อขออนุมัติงบเพิ่ม”
“คาดภายในปีนี้จะแล้วเสร็จและเปิดเผยรูปแบบให้ชาวโคราชรับทราบ เพื่อการมีส่วนร่วมและลดผลกระทบในระหว่างก่อสร้าง นอกจากนี้ อจร.นม.ได้เสนอรูปแบบตอม่อรถไฟทางคู่และความเร็วสูงควรตั้งอยู่ใกล้กัน จะเหลือพื้นที่ใต้ทางยกระดับเป็นเส้นทางสัญจรในอนาคตและมีพื้นที่ระบายน้ำชุมชน”
นายสุรวุฒิ เชิดชัย เปิดเผยว่า “ขอขอบคุณ ผู้ว่า.รฟท.ให้โอกาสคณะทำงานจังหวัดนครราชสีมาเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือการปรับแบบ เพื่อประโยชน์ใช้สอยในอนาคต จะส่งผลการพัฒนาร่วมกันระหว่าง รฟท.และท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้แผนรื้อถอนอาคารเก่า “สถานีรถไฟนครราชสีมา” อายุกว่า 90 ปี เนื่องจากเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย จึงมีความผูกพันในประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ชาวโคราชได้ขออนุรักษ์เพื่อใช้งานร่วมกับสถานีรถไฟแห่งใหม่ เป็นแลนด์มาร์ค พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเมืองเก่าโคราช ผว.รฟท. รับทราบนำไปพิจารณาและได้เน้นย้ำทั้ง 2 โครงการจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการจัดมหกรรม “พืชสวนโลก 2572” และต้องมีความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด”
สำหรับ “สถานีรถไฟนครราชสีมา” เป็นสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ (ชื่อสามัญ หัวรถไฟ หรือ หัวรถฯ) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เดิมชื่อสถานีโคราช เป็นสถานีรถไฟสายแรกของประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดสถานีรถไฟแห่งนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัดนครราชสีมา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาในปีพ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จประพาสเยี่ยมพสกนิกร ณ สถานีรถไฟแห่งนี้เช่นกัน
และประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 “สถานีรถไฟโคราช” ได้รับความเสียหายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและได้ก่อสร้างอาคารหลังใหม่เปิดใช้งาน พ.ศ.2498 และในปีเดียวกัน “ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี” ทรงประทับรถไฟพระที่นั่งลงที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ทรงเยี่ยมพสกนิกร เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลอีสาน
ปัจจุบัน “สถานีรถไฟนครราชสีมา” มีอายุยาวนานตั้งแต่เริ่มสร้างครั้งแรกมากกว่า 124 ปี (ก่อนปรับปรุงใหม่) ตัวอาคารยังทรงคุณค่าทางเอกลักษณ์สถาปัตยกรรม เป็นอาคารที่เปลี่ยนแปลงหมุดหมายทางสถาปัตยกรรมของประเทศไทย เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองที่สำคัญ มีความผูกพันกับชาวนครราชสีมา และชาวอีสานเป็นอย่างมาก