ภาคอีสานมีแม่น้ำสำคัญอย่าง “ลุ่มน้ำชี-มูล” แม่น้ำทั้งสองสายไหลมาบรรจบกันก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางภาคอีสาน ให้เติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงระบบนิเวศ แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ แต่พื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล กลับประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง และต่อเนื่องในฤดูฝนแทบทุกปี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำมูล

“ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์” ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า “ก่อนอื่นต้องทราบลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำชี-มูล ก่อน ลุ่มน้ำชี-มูลเป็นลุ่มน้ำที่ค่อนข้างใหญ่ไหลออกสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำชีมีความยาวประมาณเกือบพันกิโลเมตร หรือระยะทางกรุงเทพฯ ถึงนราธิวาส ส่วนแม่น้ำมูลยาวร่วมเก้าร้อยกิโลเมตร สองลำน้ำยาวรวมกันประมาณเกือบ 2,000 กิโลเมตร มีพื้นที่รับน้ำภาคอีสานทั้งภาค”

“ซึ่งพื้นที่ในอีสานทางใต้มีพื้นที่ร่วมราวๆ 1 ใน 3 ของประเทศไทย ฉะนั้นการจัดการน้ำจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นพื้นที่ตั้งขนาดใหญ่ ลักษณะทางกายภาพเป็นสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจว่าลักษณะเป็นลำน้ำที่ไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ก่อนจะลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำชีมีต้นน้ำอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่านขอนแก่น ร้อยเอ็ด และยโสธร ไหลมาสู่อุบลราชธานี”

“ส่วนแม่น้ำมูลต้นน้ำจะอยู่ที่นครราชสีมา ไหลผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ แล้วมาบรรจบที่อุบลราชธานี หลายคนคงเคยได้ยินว่า อุบลราชธานีจะเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี เพราะเป็นเมืองท้ายน้ำก่อนออกแม่น้ำโขง น้ำทุกหยดจึงต้องไหลผ่านเสมอ ชาวบ้านหรือคนที่อยู่ที่นั่นมานาน เขาจะรู้กายภาพของลุ่มน้ำ รู้ว่าฝนมายังไง ท่วมตรงไหนบ้าง”

ดร.ธเนศร์ กล่าวต่อว่า “แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรไปตระหนก เพราะในทุกปีเราต้องมาดูว่า เขื่อนกักเก็บได้ไหม ถ้าเก็บได้ก็ไม่มีปัญหา ถ้าฝนตกท้ายเขื่อนในลำน้ำ น้ำมันจะมามากขนาดไหน ปัจจุบันหน่วยงานรัฐเองก็มีการพยากรณ์ว่าน้ำมวลนี้จะมาถึงตรงนี้วันไหน ตัวอย่างน้ำจากขอนแก่นมาถึงอุบลราชธานี ใช้เวลาร่วม 15-20 วันเลย ลำน้ำชี-มูลมีระยะเวลาการไหล ไม่ได้น้ำท่วมฉับพลันเหมือนกับเชียงราย เชียงใหม่”

“โดยปกติแล้วในการจัดการน้ำในแม่น้ำ ตอนบนมีเขื่อนที่ชัยภูมิ 4-5 เขื่อน ซึ่งเป็นตัวกักเก็บน้ำที่ต้นน้ำ ส่วนแม่น้ำมูลก็จะอยู่แถวนครราชสีมา มีอยู่ 4-5 เขื่อน ซึ่งหลักการการจัดการน้ำที่ต้นน้ำชีต้นน้ำมูล คือต้องกักเก็บน้ำให้มากที่สุด ส่วนกลางน้ำต้องมีอาคารชลประทาน อาคารบังคับน้ำ เพื่อหน่วงน้ำและระบายน้ำไม่ให้มาตอนล่าง ให้ปลายน้ำที่อุบลราชธานีลงแม่น้ำโขงน้อยที่สุด นี่คือแนวทางการจัดการน้ำ การติดตามน้ำจะดูเฉพาะจุดไม่ได้ ต้องดูตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ เพราะบางทีต้นน้ำฝนตกน้อย เขื่อนไม่เต็ม แต่ฝนตกท้ายเขื่อน น้ำก็ท่วมอยู่ดี หรือบางทีเขื่อนอาจจะเต็ม เขื่อนล้นมา แต่กลางน้ำไม่มีน้ำ ฝนน้อย น้ำที่ระบายมาก็อาจไม่กระทบอะไร”

“ฉะนั้นการจัดการน้ำและการติดตามเฝ้าระวังน้ำ ดูเป็นรายจังหวัดไม่ได้ เนื่องจากลำน้ำต่อเนื่องกันเป็นแนวทางยาวร่วมทางเดียว จึงต้องดูเป็นองค์รวม ภายใต้สิ่งที่เราพัฒนาตามหลักวิศวกรรมสามารถทำได้หมด จะกักเก็บน้ำช่วงไหน จะระบายน้ำช่วงไหน จะผันน้ำไปทางไหน จะสร้างอาคารอะไร แต่การดำเนินการต้องใช้ระยะเวลา ใช้งบประมาณ และใช้คนที่มีส่วนร่วม เรียกว่าการจัดการน้ำแบบ Non-Structured หรือการไม่ใช้โครงสร้าง ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับเวลาและปริมาณที่เหมาะสม ที่สำคัญคือต้องวางแผนร่วมกันจากทุกฝ่าย คนชัยภูมิจะคิดเรื่องการจัดการน้ำแค่ชัยภูมิไม่ได้ ต้องดูขอนแก่น ต้องดูมหาสารคาม ต้องดูร้อยเอ็ดด้วย ต้องคิดรวมกัน”

ดร.ธเนศร์ กล่าวต่อว่า “อีกหนึ่งเรื่องของความแปรปรวนที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือสภาพอากาศ การออกแบบระบบระบายน้ำต่างๆ ออกแบบภายใต้เงื่อนไขที่สถานการณ์ปกติ แล้วบวกไปอีกหน่อย แต่ไม่ได้รองรับลักษณะการเกิดแบบ Extreme Event ยกตัวอย่างเช่น ฝนตกหนักมาก 90 มิลลิเมตรต่อวัน แต่น้ำไม่ท่วม เทียบกับฝนตก 90 มิลลิเมตร 2 ชั่วโมง แต่กลับน้ำท่วม เรียกว่าเป็นรอการระบาย เพราะระบบรองรับได้ประมาณเท่านั้น การเกิด Extreme Event มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะแปรปรวนอย่างหนัก คือต้องยอมรับว่าอาคารโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีการออกแบบไว้เพื่อรองรับสถานการณ์แบบหนึ่งเท่านั้น แม้จะมีโครงการชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สร้างขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่าอุทกภัยจะหมดไป แต่เป็นการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยลง จากหนักเป็นเบา จากเบาเป็นไม่มี”

“จะมีคําพูดที่ว่า ปกติตรงนี้ไม่เคยท่วมเลย แล้วทำไมปีนี้ท่วม เราต้องไปชี้แจงว่าภูมิประเทศหรือผังเมืองมีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ทั้งการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เพราะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่ล้วนมีผลกระทบทำให้ทางน้ำเปลี่ยน หรือปริมาณน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจ”

“ปัจจุบัน “กรมชลประทาน” ยังได้มีการทำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยปกติเราใช้เครื่องวัดระดับน้ำอยู่แล้ว มีการรายงานผลเป็นเรียลไทม์ทุกชั่วโมง สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน แต่อีกส่วนหนึ่ง คือแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการรายงานสถานการณ์น้ำแบบ Two-way Communication เพราะรัฐบาลจะบริหารจัดการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ประชาชนรับรู้ รับทราบ และมีส่วนร่วมด้วย อย่างเช่นการจะผันน้ำไปในพื้นที่ต่างๆ ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับเราหรือยัง เพื่อลดข้อขัดแย้งว่าทำไมไม่ผันไปตรงนั้นตรงนี้ ต้องมองผลกระทบภาพรวมของลุ่มน้ำจากทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ภาครัฐ และเอกชนไปอยู่ในคณะการทำงาน มีการตัดสินใจหรือมีมติในที่ประชุม โดยทั่วไปภายใต้สถานการณ์ปกติ กรมชลประทานสามารถตัดสินใจได้องค์กรเดียว แต่พอเป็นวิกฤต ต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ต้องมีกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เข้ามาร่วมในการจัดการด้วย”

ดร.ธเนศร์ กล่าวอีกว่า “การปรับตัว ถ้าหากเป็นชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำ เขาสามารถปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้ ในจุดที่เสี่ยงน้ำท่วมทุกปี เช่น ยกใต้ถุนบ้านสูง มีเรือไว้ใช้เดินทางสัญจร นั่นคือการปรับตัวให้อยู่กับน้ำ ตอนนี้เราพยายามใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ อย่างเขื่อนต้นน้ำต่างๆ ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร มีการกักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด ส่วนฤดูแล้งจะนำไปใช้เพื่อการเกษตร เป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการให้ดีที่สุด โดยใช้ข้อมูลจากภาครัฐมาใช้ในการจัดการน้ำ เรามีระบบการติดตามน้ำในแม่น้ำ ระบบการคาดการณ์น้ำ ระบบการจัดการจราจรน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มีการพัฒนาเครื่องมือทั้งในรูปของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์”

“สุดท้ายเราต้องพยายามสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ถึงระบบการจัดการในภาพรวมว่า น้ำมาจากไหน มาจากฝนหรือมาจากเขื่อน สำคัญคือขอให้ฟังเหตุการณ์และข้อมูลจากภาครัฐ และหน่วยงานราชการ ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา สวทช. หรือกรมชลประทาน เป็นการสร้างการรับรู้ร่วมกัน เพื่อให้เราอยู่กับน้ำอย่างเข้าใจได้ต่อไปอย่างยั่งยืน” ดร.ธเนศร์ กล่าวทิ้งท้าย