เหตุการณ์โศกนาฏกรรมเมืองโคราช เป็นข่าวช็อคไปทั้งโลก! โรงแรมชื่อดังกลางเมืองโคราช “รอยัลพลาซ่า” เป็นโรงแรมที่มีสถานบันเทิงครบวงจร ได้เกิดถล่มลงมาทั้งตึก เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 เวลา 4 โมงเช้า ซากตึกฝังชีวิตไปถึง 137 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก และวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 31 ปี
“โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม” กลายเป็นเหตุการณ์อีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ชาวโคราชต้องจดจำถึงทุกวันนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 หรือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้เกิดโศกนาฏกรรมอาคาร “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” กลางเมืองโคราช ถล่มลงมา เมื่อเวลา 10.12 น. ตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์ และถนนโพธิ์กลาง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพราะสามารถเข้า-ออกได้ 2 ทาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ติดใต้ซากตึกถึง 137 คน บาดเจ็บ 227 คน
โดยขณะเกิดเหตุ มีการอบรมสัมมนาซึ่งมีผู้อยู่ในอาคารทั้งหมดกว่า 400 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 47 คน ที่เหลือเป็นกลุ่มบุคคลทั่วไปที่พักอยู่ในโรงแรมและพนักงานโรงแรม ด้านการกู้ภัยได้รับการช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตในซากตึก “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” ขณะนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีผู้ประสบเหตุจำนวนมากและไม่มีเครื่องมือหนักในการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งโคราชและกรุงเทพฯ ได้ระดมความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง
เหตุการณ์โรงแรมถล่มครั้งนั้น “หลวงพ่อคูณ” เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด ได้เดินทางมาที่ซากตึกถล่ม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่และอาสากู้ภัยที่เข้าช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในซากของโรงแรม และได้แจกพระเครื่องให้อีกด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น นายชวน หลีกภัย ได้เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมรัฐมนตรีอีกด้วย
ทั้งนี้ชื่อเดิมคือ “โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา” เป็นโรงแรมที่มีสถานบันเทิง และอาบ อบ นวด ใหญ่ที่สุดในโคราช และมีการดำเนินธุรกิจล้มเหลวจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดทรัพย์ ก่อนที่ผู้ถือหุ้นชุดใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์ และได้ฟื้นฟูกิจการ
ขณะที่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆได้สิ้นสุดคดีเมื่อปลายปี 2543 โดย ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นจำเลยที่1 ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลจากคำพิพากษาเพราะ ผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้าง
โดยได้ว่าจ้างวิศวกรคือ นายบำเพ็ญ ซึ่งมีความรู้มารับผิดชอบในการต่อเติมอาคารโรงแรม ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่มีความผิด ดังนั้นศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในส่วนคดีแพ่งนั้นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้ บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเต็ล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด
ส่วนสาเหตุของตึก “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” ถล่มนั้น เกิดจากการที่โรงแรม หลังจากได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา” เป็น “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีสถานบันเทิงครบครันอาทิ อาบอบนวด, คาเฟ่, เอ็กเซ็คคิวทีฟผับ, เลเซอร์เธค, บาร์เบอร์ เป็นโรงแรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ได้ปรับปรุงใหม่และมีการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้นเป็นอาคาร 6 ชั้น พร้อมห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่อยู่ชั้นที่ 6
นอกจากโปรเจ็กต์ขยายตึกโรงแรมเป็น 6 ชั้นแล้ว ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำอีกคือ ปรับปรุงคาเฟ่ ซึ่งเป็นแม่เหล็กสถานบันเทิงที่ทำรายได้ดีใหม่ทั้งหมด พร้อมกับจะสร้างอาคารจอดรถสูง 8 ชั้นที่ใช้งบสูงถึง 30 ล้าน สามารถจอดรถได้ 400 คัน และสุดท้ายเป็นการจัดงานใหญ่ ฉลองครบรอบ 10 ปีโรงแรม ในเดือนพฤศจิกายน 2536 แต่เกิดเหตุการณ์โรงแรมถล่มเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ก่อน
เหตุการณ์อาคาร “โรงแรมรอยัลพลาซ่าโคราชถล่ม” กลายเป็นข่าวดังปี 2536 ช่วงนั้นอย่างมาก สำนักข่าวดังทั้งในและต่างประเทศมุ่งสู่เมืองโคราช เสนอข่าวนี้ตลอด 1 เดือนเต็ม เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนเสียชีวิตและติดอยู่ในซากตึกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ข่าวโรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม ถือได้ว่าเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ซึ่งในวันที่ 13 สิงหาคมของทุกปี ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต ได้รวมตัวกันทำบุญและอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งวิญญาณผู้เสียชีวิตที่ล่วงลับให้ไปสู่สุคติ และเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่า กลางใจเมืองโคราชถล่ม
และจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์ “โรงแรมรอยัลพลาซ่า”ถล่ม! เป็นโศกนาฏกรรม “ซากตึกฝังชีวิต” ที่ชาวโคราชมิอาจลืมเลือนได้!!!