หลังจากชาวโคราชเอาจริง! รวมพลังทุกภาคส่วนประกาศลั่น รฟท.ต้องทุบทิ้งสะพานสีมาธานีเท่านั้น พร้อมสร้างทางรถไฟยกระดับผ่านตัวเมือง ต้องทำตามมติที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 62 แต่ “การรถไฟ” สรุปไม่ทุบสะพานสีมาธานี เลือกแบบ “รถไฟทางคู่ยกระดับลอดสะพานสีมาธานี” ล่าสุด! “ครม.สัญจรโคราช” สั่งยกระดับยาว 16 กิโลเมตร ข้ามสะพานสีมาธานี เหมือน “รถไฟความเร็วสูง” โดยไม่ต้องทุบสะพาน คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เริ่มก่อสร้างในต้นปี 2568 และแล้วเสร็จครบทั้งเส้นทางในปี 2571
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/06/447297044_881645867309908_3292550634112115375_n-1024x576.jpg)
หลังจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 67 ที่กระทรวงคมนาคม มีการประชุมพิจารณาแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะใช้พื้นที่บริเวณสะพานสีมาธานี จ.นครราชสีมา เนื่องจากยังมีชาวโคราชพื้นที่ชุมชนรอบสะพาน และภาคเอกชน เรียกร้องให้ “ทุบสะพาน” เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และการขยายเมืองในอนาคต
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/06/IMG_9001-1024x572.jpg)
โดยสรุปได้ 2 แนวทาง ดังนี้ 1.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ซึ่งจะมีช่วงระยะทางรถไฟลดระดับลงลอดใต้สะพานสีมาธานีและขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมา
2.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ข้ามสะพานสีมาธานี โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ รฟท. ชี้แจงว่า อาจส่งผลกระทบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ที่ขบวนรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดที่สถานีโคราช และทางคู่เมื่อยกระดับข้ามสะพานสีมาธานีแล้วไม่สามารถลดระดับเพื่อหยุดที่สถานีโคราชได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ ซึ่งอาจต้องย้ายสถานีโคราชไปอยู่ที่เหมาะสม หรืออาจยกระดับผ่านสถานีโคราชแล้วลดระดับเข้าสู่สถานีจิระแทน
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/โคราช4-1024x768-1.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/06/IMG_9002-1024x575.jpg)
ขณะที่แผนงานของ รฟท. จะไม่ทุบสะพานสีมาธานี ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และส่งผลให้ทั้ง 2 โครงการในช่วงบริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งมติชาวโคราช กรณีสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ในการประชุม อจร.นม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ได้สรุปแนวทาง รื้อถอนสะพานสีมาธานี และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน และยังคงยืนยันให้ รฟท.ทำตามมติเดิม
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/05/429662713_818991606908668_2248675263273311875_n-1024x682.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/โคราช6-1024x576-1.jpg)
รวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร ให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก เพื่อลดผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ไม่ได้ข้อยุติและทำให้เส้นทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ช่วงผ่านสถานีรถไฟนครราชสีมา ต้องเป็นคอขวดและขบวนรถรอสับหลีก
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/06/448459961_814543474112777_459786330499347733_n-1024x682.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/06/448189477_122144320622241376_2580527301956706272_n-1024x683.jpg)
กระทั่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม บุกโคราชรับปากจะสั่งรฟท.เร่งทำแบบสร้างทางรถไฟ “ข้ามสะพานสีมาธานี” ไม่ลอดใต้สะพานปิดแยกถนนสืบศิริข้างตะวันแดง และขึ้นไปเป็นทางยกระดับประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี ยุติปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้ในทุกมิติ พร้อมตั้งงบประมาณเร่งด่วน!
ล่าสุด! เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 67 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 ที่ จ.นครราชสีมา นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า “หลังลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/449727609_10230337986727784_3500257858185158277_n-1020x1024.jpg)
“และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง งานสัญญาที่ 3-5 เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด ไทม์ไลน์ เดือนสิงหาคมนี้ เสนอคณะกรรมการ รฟท. ต้นปี 2568 ประกวดราคา ช่วงกลางปีเริ่มก่อสร้าง ระยะเวลา 24 เดือน คาดแล้วเสร็จปี 2570 (หากไม่ติดปัญหาเพิ่มเติม) และมีทางรถไฟระดับดินเพื่อให้รถไฟเข้าโรงซ่อมรถไฟได้และไม่ทุบสะพานสีมาธานี”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/449531117_897147759110064_3883444663035187814_n-1024x441.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/449212852_122149501478241376_3423238952436222771_n-1024x575.jpg)
“ส่วนอาคารสถานีนครราชสีมา แบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างระดับดินเป็นโถงพักคอยผู้โดยสาร ชั้น 2 เป็นชานชาลารถไฟทางคู่ สูงจากพื้น 11 เมตร มี 4 ชานชาลา และ 2 ทางผ่าน ชั้น 3 เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง สูงจากพื้น 24 เมตร มี 4 ชานชาลา และ 2 ทางผ่าน”
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/53800865_2148572778554683_2490523785443147776_o-2-1024x577.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/54230677_2148572581888036_460256254581800960_o-2-1024x577.jpg)
![](https://executivekorat.com/wp-content/uploads/2024/07/A34.jpg)
“ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร–ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด–ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร รวมไปถึงแก้ปัญหาการรื้อถอนสะพานสีมาธานี กระทรวงฯ ได้มีนโยบายให้การรถไฟฯ ก่อสร้างเป็นทางยกระดับข้ามสะพานสีมาธานี โดยการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟทางคู่ทั้งสองสัญญานี้ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เริ่มก่อสร้างในต้นปี 2568 และแล้วเสร็จครบทั้งเส้นทางในปี 2571”
“ในปี 2571 จะเป็นปีที่ระบบรางสายอีสานแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งรถไฟทางคู่เฟสแรกจะเปิดให้บริการได้ถึงชุมทางจิระ ลดระยะเวลาการเดินทางได้ 1 ชั่วโมง ขณะเดียวกันรถไฟไฮสปีดเฟสแรกจะแล้วเสร็จ เชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา” รมช.คมนาคม กล่าว