ชาวโคราชเอาจริง! ประกาศลั่น รฟท.ต้องทุบทิ้งสะพานสีมาธานีเท่านั้น พร้อมสร้างทางรถไฟยกระดับผ่านตัวเมือง ต้องทำตามมติที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 62 เตรียมเสนอคัดค้านรับ “ครม.สัญจรโคราช” หลัง “คมนาคม-การรถไฟ” สรุปไม่ทุบสะพานสีมาธานี เลือกแบบ “รถไฟทางคู่ยกระดับลอดสะพานสีมาธานี” ด้านปชช.ชุมชนรอบถนนสืบศิริ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม และ “สส.โคราช” ประสานเสียงทั้งฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้าน ต้องยกระดับรถไฟทางคู่ผ่านเมืองเท่านั้นคือคำตอบสุดท้าย แม้ต้องเพิ่มค่าก่อสร้างและใช้เวลาก่อสร้างหลายปี แต่จะทำให้ภูมิทัศน์ ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ที่สำคัญมีความคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว

หลังจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 67 ที่กระทรวงคมนาคม มีการประชุมพิจารณาแนวทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะใช้พื้นที่บริเวณสะพานสีมาธานี จ.นครราชสีมา เนื่องจากยังมีชาวโคราชพื้นที่ชุมชนรอบสะพาน และภาคเอกชน เรียกร้องให้ “ทุบสะพาน” เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และการขยายเมืองในอนาคต

ขณะที่แผนงานของ รฟท. จะไม่ทุบสะพานสีมาธานี ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และส่งผลให้ทั้ง 2 โครงการในช่วงบริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งมติชาวโคราช กรณีสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ในการประชุม อจร.นม. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ได้สรุปแนวทาง รื้อถอนสะพานสีมาธานี และก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทดแทน และยังคงยืนยันให้ รฟท.ทำตามมติเดิม

โดยการประชุมมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และทางจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นำทีมไปพร้อมด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ฯลฯ

ผลการประชุม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า “การหารือกับกลุ่มผู้แทนภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจังหวัดนครราชสีมาในวันนี้ เพื่ออธิบายความจริง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้กลุ่มผู้นำในจังหวัดนำไปสื่อสารชี้แจงและทำความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้รับทราบ โดยแนวทางการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมาทั้งหมดจะเป็นทางยกระดับสูง 8 เมตร ประชาชนทั้งสองฝั่งทางรถไฟสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก”

“โดยใช้ทางลอดใต้ทางรถไฟ ซึ่งไม่เป็นการแบ่งแยกตัวเมืองออกเป็นสองฝั่ง การก่อสร้างไม่ได้ทำให้น้ำท่วมตัวเมืองอย่างแน่นอน ในส่วนที่ผ่านตัวเมืองบริเวณสะพานสีมาธานี รฟท. ได้ชี้แจงและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการก่อสร้าง โดยสรุปได้ 2 แนวทาง ดังนี้”

1.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ลอดใต้สะพานสีมาธานี ซึ่งจะมีช่วงระยะทางรถไฟลดระดับลงลอดใต้สะพานสีมาธานีและขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี

 2.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ ข้ามสะพานสีมาธานี โดยไม่ต้องทุบสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ รฟท. ชี้แจงว่า อาจส่งผลกระทบกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ที่ขบวนรถไฟความเร็วสูงต้องหยุดที่สถานีโคราช และทางคู่เมื่อยกระดับข้ามสะพานสีมาธานีแล้วไม่สามารถลดระดับเพื่อหยุดที่สถานีโคราชได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ ซึ่งอาจต้องย้ายสถานีโคราชไปอยู่ที่เหมาะสม หรืออาจยกระดับผ่านสถานีโคราชแล้วลดระดับเข้าสู่สถานีจิระแทน

ล่าสุด! เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นายโกศล ปัทมะ ส.ส เขต 6 จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เปิดเผยในฐานะ ส.ส ที่เข้าร่วมประชุมว่า “เพื่อไทยโคราช ยืนยันและเห็นชอบตามฉันทานุมัติให้สร้างรถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมือง แม้นต้องเพิ่มค่าก่อสร้างและใช้เวลาก่อสร้างหลายปี คำตอบสุดท้ายจะทำให้ภูมิทัศน์ ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ที่สำคัญมีความคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว ซึ่งโครงสร้างสะพานเหลืออายุการใช้งานไม่กี่ 10 ปี แต่ทางรถไฟต้องอยู่กับคนเมืองอีกนานแสนนาน”

นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ส.ส เขต 1 จ.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล ฐานะ ส.ส เจ้าของพื้นที่และตัวแทน กก.ที่เข้าร่วมประชุม เปิดเผยว่า “ทุกภาคส่วนได้รวบรวมข้อมูลครอบคลุมทุกมิติและเห็นตรงกันต้องสร้างทางรถไฟยกระดับผ่านเมือง รูปแบบลอดใต้สะพานแล้วไต่ระดับขึ้นอีกครั้งทำให้เกิดผลกระทบการสัญจรผ่านระหว่างชุมชน ทางแยกจุดตัดต่างๆถูกปิดกั้นหรือแบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง ขอให้รับฟังด้วยเหตุ สิ่งที่ฝ่าฝืนมติพยายามจะทำโดยไม่ฟังเสียงชาวโคราช ซึ่งต้องทนแบกรับความเดือดร้อนและเพิ่มภาระในอนาคตที่ต้องอยู่กับทางรถไฟหลายชั่วอายุคน”

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ภาคเอกชนมีมติให้รถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมืองตลอดเส้นทางในระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อลดผลกระทบและปัญหาอุปสรรคสะพานข้ามทางรถไฟเป็นจุดตัดทางเชื่อมชุมชน รูปแบบที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอจะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจหลายประเด็น ดังนี้”

“1.ทัศนียภาพของเส้นทางเข้าสู่ตัวเมือง หากยกระดับระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและไม่ปิดกั้นการเชื่อมโยงเส้นทาง จะทำให้ภาพรวมของเมืองดีขึ้น”

“2.บริเวณสี่แยกอัมพวันใต้สะพานสีมาธานีก่อสร้างปี 2508 และต่อเติมแล้วเสร็จปี 2530 ส่งผลกระทบธุรกิจการค้าขายซบเซา คนในพื้นที่ยอมรับเพื่อส่วนรวมและความเจริญของเมือง ขณะนี้เรากำลังมีสิ่งใหม่เข้ามา หากมีสะพานประกอบกับรถไฟทางคู่มาลอดใต้สะพานจะทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบวกปิดกั้นแนวเขตทางทั้งหมดในรัศมี 1.6 ตารางกิโลเมตร ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเงียบเหงาซบเซามากกว่าเดิม ดังนั้นการยกระดับให้ลอยข้ามเมืองไป ทำให้ชุมชนดำรงชีพได้อย่างปกติ เศรษฐกิจจะเติบโต”

“3.ผลกระทบการระบายน้ำท่วม หากยกระดับรถไฟทางคู่ จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ใต้รางรถไฟให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากกว่าทางระดับดิน”

“4.ต้นทุนการเสียเวลาและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเดินทาง การใช้ชีวิตไปมาหาสู่กันต้องเพิ่มระยะทางจากเดิม ข้อมูล การสัญจรผ่านถนนสืบศิริ มีปริมาณยานพาหนะวันละ 20,000 คัน ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งงบทุบสะพานประมาณ 400 ล้านบาท และก่อสร้างทางลอด 800 ล้านบาท รวมเป็น 1.2 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับชาวโคราชต้องอยู่กับรถไฟ การลงทุนคุ้มค่าในระยะยาว ดังนั้นการยกระดับรถไฟทางคู่เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับเมืองในอนาคต”

นายสุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ ประธานหอการค้า จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคม ยืนยันจะไม่ทุบ “สะพานสีมาธานี” แต่จะทำทางรถไฟทางคู่ยกระดับ “ลอดสะพาน” แทน โดยให้เหตุผลว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะหากทุบทำอุโมงค์ ถนนมิตรภาพโคราช จะอัมพาต 3 ปี ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการจราจรจากการก่อสร้างเพิ่มขึ้น กระทรวงคมนาคมกลับเสนอรูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา บริเวณสะพานสีมาธานี เป็นทางรถไฟยกระดับแค่ “ลอดใต้สะพานสีมาธานี” แทนนั้น จึงถือว่าทางการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ไม่ทำตามสัญญามติเดิม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่เคยรับปากไว้”

“ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัด โดยเฉพาะถนนสืบสิริ ตรงแยกตะวันแดง จะถูกตัดขาดทางเชื่อมถนนไปเลย จะส่งให้อีก 8 ชุมชน กว่า 4 หมื่นคน ที่ใช้ถนนสืบศิริ ในการสัญจร การค้า-การขาย วิกฤติใหญ่หลวงแน่ๆ และจะต้องใช้เวลาเดินทางอ้อมไปไกลอีกหลายกิโลเมตร จึงขอคัดค้านการก่อสร้างจนถึงที่สุด”

นายประพจน์ ส.อบจ.นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 เปิดเผยว่า “หลังจากมติการประชุม อจร.นม. เห็นชอบให้ รฟท. ปรับรูปแบบก่อสร้างช่วงผ่านตัวเมือง ที่ผ่านมา อจร.นม.ได้ชี้แจงปัญหาอุปสรรคและผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกมิติทั้งภาคสังคม เศรษฐกิจ ภูมิทัศน์เมือง เส้นทางระบายน้ำ ฯ แต่กระทรวงคมนาคม กลับยืนยันไม่ทุบสะพานสีมาธานี ซึ่งเป็นปมขัดแย้งกว่า 5 ปี ทำให้โครงการล่าช้าและเพิ่มงบดำเนินการจากต้นทุนวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ชาวโคราชยืนยันให้สร้างทางรถไฟยกระดับผ่านเมืองเท่านั้น คนคิดคนทำไม่ได้อยู่ที่นี่ก็ไม่เดือดร้อน หากไม่ทำตามมติความต้องการของชาวโคราช จะเคลื่อนไหวต้อนรับ ครม.สัญจร ซึ่งจะมีขึ้นช่วงวันที่ 1-2 ก.ค.นี้แน่นอน”