“วัดศาลาลอย” โฉมใหม่! รีโนเวทวัดเพื่อเสนอชื่อ “วัดศาลาลอย” ยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็น “วัดพระอารามหลวง” พร้อมจัดระเบียนร้านค้าภายในวัดใหม่ จนเกิดการประท้วงจากพ่อค้าแม่ค้า ล่าสุด! ได้ข้อสรุปวัดยอมผ่อนปรนให้พ่อค้า แม่ค้า เข้ามาขายของในวัดได้ตามปกติ เพื่อยุติความขัดแย้ง หลังเกิดการชุมนุมประท้วงไม่พอใจให้ออกไปขายนอกวัด ด้านไวยาวัจกรวัดศาลาลอย ยันเรื่องขัดผลประโยชน์ภายในวัดไม่มีแน่นอน เพราะทางวัดมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส

ความคืบหน้า จากกรณีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 67 ที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านที่เป็นแม่ค้าพ่อค้าภายในวัดศาลาลอย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ชุมนุมประท้วงวัด เนื่องจากไม่พอใจที่ทางวัดได้ติดป้ายสั่งให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ทั้งร้านขายของกิน แผงขายลอตเตอรี่ และจุดจำหน่ายปลาปล่อยทำบุญ ออกไปขายนอกเขตบริเวณวัด เพื่อจัดระเบียบภายในวัด และมีการประชุมคณะกรรมการวัดเพื่อเสนอชื่อ “วัดศาลาลอย” ยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็น “วัดพระอารามหลวง” โดยที่ไม่ได้เชิญชาวบ้านในชุมชนรอบวัดเข้าร่วมประชุมด้วย ส่งผลให้ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้ารู้สึกไม่พอใจ พากันออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อขอให้คณะกรรมการวัดออกมาชี้แจงเรื่องนี้ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด! เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ที่วัดศาลาลอย พบว่ามีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวทำบุญ และกราบเจดีย์อัฐิของท้าวสุรนารี หรือย่าโมกันอย่างคึกคัก เนื่องจากเป็นวันหยุด โดยภายในวัดมีการจัดกิจกรรมให้ทำบุญหลายจุด เช่น การไถ่ชีวิตโค-กระบือ, การถวายสังฆทาน, การบริจาคโลงศพ, การบูชาวัตถุมงคล และบูชาท้าวเวสสุวรรณ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็พบว่ามีไวยาวัจกรของวัด เดินมาจัดระเบียบเพื่อให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้า เข้ามาตั้งร้านขายของกันตามปกติ

นายประสงค์ แจ่มสุวรรณ ไวยาวัจกรของวัดศาลาลอย กล่าวว่า “สืบเนื่องจากวัดแห่งนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับท้าวสุรนารี หรือย่าโม ซึ่งท่านได้สร้างไว้ และมีเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านอยู่ที่วัดแห่งนี้ด้วย ดังนั้นทางพระมงคลรัตนสุธี รักษาการเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย จึงพยายามพัฒนาพื้นที่วัดให้มีความสวยงาม เป็นหน้าเป็นตาของเมืองโคราช ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มากราบสักการะอัฐิธาตุของย่าโม”

“ต่อมาก็ได้หารือกันกับคณะกรรมการวัด เพื่อที่จะเสนอยกฐานะวัดศาลาลอย ให้เป็นวัดพระอารามหลวง จึงได้มีการจัดระเบียบแผงค้าต่างๆ โดยให้พ่อค้าแม่ค้าซึ่งมีอยู่ 26 เจ้า ที่ขายของอยู่ริมถนนข้างที่จอดรถภายในวัด ให้ย้ายรถเข็ญขายอาหารและเครื่องดื่ม ไปอยู่ข้างศาลาบำเพ็ญกุศล ติดกับลำตะคอง บริเวณหลังวัด และย้ายแผงขายล็อตเตอรี่ ซึ่งมีอยู่ 8 เจ้า กับร้านขายปลาและนก สำหรับปล่อยทำบุญ 4 เจ้า ออกไปนอกเขตกำแพงวัด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของวัดพระอารามหลวง ที่มีระเบียบดูแลเข้มงวดมากขึ้น”

“จึงทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้าต่างๆ รู้สึกไม่พอใจ รวมตัวชุมนุมประท้วง เพราะขายของไม่ได้เหมือนเดิม กระทั่งเมื่อช่วงเช้านี้ (4 พ.ค.) ทางพระมงคลรัตนสุธี รักษาการเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย จึงได้เชิญบรรดาพ่อค้า แม่ค้า และชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง เข้ามาประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปว่า ทางวัดจะคืนพื้นที่ให้พ่อค้า แม่ค้า รวมทั้งแผงขายล็อตเตอรี่ และร้านขายนก ขายปลา สามารถเข้ามาขายภายในวัดได้ตามปกติ แต่ต้องมีการจัดระเบียบกันใหม่”

“โดยไม่ให้ตั้งร้านยื่นมากีดขวางทางเดินมากนัก ส่วนร้านค้ารายใหม่ ตอนนี้ต้องงดรับเพิ่ม เพราะจะทำให้พื้นที่หนาแน่นเกินไป ส่วนเรื่องขัดผลประโยชน์ภายในวัดนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีแน่นอน เพราะทางวัดมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนอยู่แล้ว” นายประสงค์ กล่าว

สำหรับ “วัดศาลาลอย” โดย “พระมงคลรัตนสุธี” (เจ้าคุณสุข) รองเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย ได้เริ่มปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใน “วัดศาลาลอย” อ.เมือง จ.นครราชสีมา ใหม่ทั้งหมด เพื่อที่จะเสนอยกฐานะ “วัดศาลาลอย” ให้เป็น “วัดพระอารามหลวง” บรรยากาศไม่เหมือนเดิม กว้างขวางสะอาดตา ร่มรื่นกว่าเดิมมาก “วัดศาลาลอย” แต่เดิมมีพื้นที่เพียง 7 ไร่ ด้วยความศรัทธาจากผู้คนที่มาสักการะอัฐิของคุณย่าโม และความตั้งใจที่จะพัฒนาวัดของพระมงคลรัตนสุธี (เจ้าคุณสุข) รองเจ้าอาวาสวัดศาลาลอย จึงมีการซื้อและขยายที่ดินของวัดเพิ่มขึ้น ปัจจุบันวัดศาลาลอยมีเนื้อที่ทั้งหมด 12 ไร่ พื้นที่แต่ละแปลงล้วนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้คนที่มาวัด และเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

โดยรื้อพื้นเก่าปูกระเบื้องหน้าพระอุโบสถหลังเก่าที่ “คุณหญิงโม” สร้างอุทิศถวายให้ดูสะอาด สวยงาม เปลี่ยนพื้นบริเวณลานใหม่ ปรับปรุงทุกโซน ทั้งโซนเพลงโคราช โซนสวนพักผ่อน ร้านกาแฟ จัดระเบียบร้านค้าต่างๆ เพิ่มลานจอดรถ เพื่อต้อนรับประชาชนมาสักการะอัฐิย่าโม

สำหรับ “อุโบสถมหาอุตม์” อุโบสถที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 โดยคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี), ปลัดทองคำ (เจ้าพระยามหิศราธิบดี) และเหล่าวีรชนผู้หาญกล้าชาวโคราช ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้มีอายุกว่า 197 ปี ซึ่งยังคงได้รับการบูรณะตลอดมา เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักฐานแห่งอดีตกาลอันเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ “วัดศาลาลอย”