ชาวโคราชสุดปลื้ม! “ยูเนสโก” ไฟเขียวประกาศรับรอง “โคราช” เป็น “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Heritage City” ประกอบด้วย 1.มรดกโลกป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช 3.โคราชจีโอพาร์ค ด้าน ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ยัน “ยูเนสโก” ไม่ได้มีการรับรองเป็น “ดินแดน 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown”

จากผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10 – 24 พฤษภาคม 2566 ที่ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น UNESCO Global Geopark หรือ “อุทยานธรณีโลก” ประกาศเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือ ทริปเปิลคราวน์ (Triple Crown) ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง “3 มงกุฎของยูเนสโก” ในจังหวัดเดียวกัน

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เป็นข่าวดีสำหรับคนไทย ข่าวดีสำหรับคนโคราช เมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม 2566) ทางยูเนสโกได้มีการประชุมและได้ให้การรับรองจังหวัดนครราชสีมาในพื้นที่ 5 อำเภอ ซึ่งเดิมทีถูกประกาศให้เป็น “โคราชจีโอพาร์ค” คือ พื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ แต่ล่าสุด ยูเนสโก รับรองให้เป็น “เวิลด์ จีโอพาร์ค” เป็น “ยูเนสโก จีโอพาร์ค” ถือว่าเป็น จีโอพาร์คหรือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย โดยแห่งแรก คือที่จังหวัดสตูล และครั้งนี้ที่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการรับรองให้มีอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2”

“ถือว่าเป็นข่าวดีข่าวใหญ่โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งกลายเป็นว่า โคราชเป็นจังหวัดเดียวของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ โดยมงกุฎแรก คือ 1.เป็นมรดกโลก ได้แก่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2.เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลก ได้แก่ ป่าสะแกราช อ.ปักธงชัย 2 มงกุฎ และ 3.เป็นอุทยานธรณีโลก เป็นมงกุฎที่ 3 จากยูเนสโกที่มอบให้กับประเทศไทย และมอบให้กับจังหวัดนครราชสีมา ถือว่าในโลกมีเพียง 4 จังหวัดเท่านั้น ที่มี 3 มงกุฎอยู่ในจังหวัดเดียว”

“อันนี้คือความยิ่งใหญ่ทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม ป่าเขาลำเนาไพร วิถีชีวิตชาติดึกดำบรรพ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย ให้กับภาคอีสาน ให้กับจังหวัดนครราชสีมา และจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลทำไว้แล้ว อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์มาโคราช รถไฟทางคู่มาโคราช รถไฟความเร็วสูงมาโคราชอีกด้วย” นายสุวัจน์ กล่าว

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า “เมื่อปี 2565 องค์การยูเนสโก ได้มอบหมายให้ Dr.Marie Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมนี พร้อม Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดา และคณะทำงาน ลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนามจำนวน 17 แหล่งสำคัญ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ของ จ.นครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลและเก็บหลักฐานประกอบการรับรอง “อุทยานธรณีโคราช” ให้เป็น “อุทยานธรณีโลก” ของยูเนสโก”

“ล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-24 พฤษภาคม ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น UNESCO Global Geopark”

“หัวใจสำคัญของ “จีโอพาร์ค หรือ อุทยานธรณี” คือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งที่ภูมิประเทศ และแหล่งธรณีวิทยามีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่นๆ และวัฒนธรรมสำคัญและสัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยาและมีการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งในด้านการอนุรักษ์การศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวอีกว่า “โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการจากล่างสู่บน (Bottom-up) เชื่อมโยงเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำให้ จ.นครราชสีมา เป็น Korat The UNESCO Triple Heritage City รวม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.มรดกโลกป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ 2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช 3.โคราชจีโอพาร์ค”

“โคราชจีโอพาร์ค พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง พื้นที่ 5 อำเภอ มีภูมิประเทศเขาเควสตา (เขารูปอีโต้) และฟอสซิล 3 ยุค โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Cuesta & Fossil Land) เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งและวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง ซึ่งมีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลกที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วโลก มีอัตลักษณ์ 8 ประกาคือ ดินแดนแห่ง 1 เขา 1 หิน 1 ป่า 1 ลำ 10 วัฒนธรรม กับ 3 ซาก หมายถึง เขาเควสตา เขาอีโต้ หินทราย ป่า เต็งรัง ลำตะคอง วัฒนธรรมไทโคราช ซากไม้กลายเป็นหิน ซากช้างดึกดำบรรพ์และซากไดโนเสาร์” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

ล่าสุด! ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีมีบางสื่อลงข่าวโคราชจีโอพาร์คคลาดเคลื่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ด้วยมีสื่อและบุคคลทั่วไปเข้าใจเรื่องการรับรองโคราชจีโอพาร์คของยูเนสโกคลาดเคลื่อน จึงใคร่ขอให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจตรงกันดังนี้ครับ

1. ตามที่คณะกรรมการบริหารยูเนสโก ประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 17 พฤษภาคม 2566 และมีวาระการพิจารณา เรื่อง การรับรองจีโอพาร์คหรืออุทยานธรณีใหม่ 18 แห่ง เพื่อการเป็นจีโอพาร์คโลกนั้น ผลการประชุม มีมติเห็นชอบให้จีโอพาร์คทั้ง 18 แห่ง ซึ่งรวมทั้ง โคราชจีโอพาร์ค จาก 13 ประเทศ เป็น จีโอพาร์คโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Global Geopark ฉะนั้น ยูเนสโกจึงไม่ได้มีการรับรองเป็นดินแดน 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown แต่อย่างใด

2. เรื่องดินแดน 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown เป็นเรื่องก่อนการประเมินโคราชจีโอพาร์ค และใน พ.ศ.2565 ผู้ประเมินจากยูเนสโกแนะนำว่าไม่ควรใช้ เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโคราชจีโอพาร์ค 5 อำเภอ เป็นพื้นที่ทั้งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑลและจีโอพาร์คโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่อง มรดกโลกและพื้นที่สงวนชีวมณฑล อยู่นอกพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค

3. อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั้งจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งครอบคลุม 32 อำเภอ มีพื้นที่มรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชที่ยูเนสโกรับรองแล้ว ตั้งแต่เมื่อปี 2548 และ 2519 และอยู่ในอำเภออื่นๆ นอกเขตโคราชจีโอพาร์ค คนโคราชจะประชาสัมพันธ์ก็สามารถกล่าวได้ว่า “จังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช เป็นเมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Heritage City”

4. กรณีโคราชจีโอพาร์คเป็นจีโอพาร์คโลกแห่งที่ 183 จาก 195 แห่งใน 48 ประเทศ ในปี 2566 นั้น ทางโคราชจีโอพาร์ค พิจารณาเองจากลำดับการพิจารณาเห็นชอบในที่ประชุมของสภาจีโอพาร์คโลก เมื่อเดือนกันยายน 2565 ไม่ใช่การเรียงลำดับโดยยูเนสโก