ยิ่งใหญ่สมการรอคอย! ประเพณีโบราณนานมา แห่ “พระคันธารราฐลอดประตูเมือง” ในงาน “สงกรานต์โคราช” ฉลองสมโภชเมืองนครราชสีมา ครบรอบ 555 ปี “ผู้ว่าฯโคราช-แม่ทัพภาคที่2” นำประชาชนร่วมพิธีโบราณกว่า 1,000 คน ร่วมแห่พระคันธารราฐ หรือพระขอฝน เพื่อความเป็นเสริมมงคล

จังหวัดนครราชสีมา” ร่วมกับ “เทศบาลนครนครราชสีมา” และ “วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร-อบจ.-วัฒนธรรมจังหวัด” จัดงาน “เทศกาลสงกรานต์โคราช” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย.66 โดยจะใช้พื้นที่วัดพระนารายณ์ฯ และลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือลานย่าโม ถนนราชดำเนิน และถนนชุมพล จัดเป็นโซนสำหรับให้ประชาชนได้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างเต็มที่

พร้อมพิธีสำคัญอัญเชิญ “พระคันธารราฐ”(ปางขอฝน) จากวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร ขึ้นสู่ราชรถ แล้วเคลื่อนขบวนแห่มาตามถนนจอมพล เป็นระยะทางกว่า 800 เมตร มาที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อทำพิธีลอดประตูชุมพล

เมื่อวันที่ 13 เม.ย.66 ที่ผ่านมา บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา กว่า 1,000 คน ร่วมกันอัญเชิญพระคันธารราฐ หรือพระปางขอฝน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำ จ.นครราชสีมา อายุ 101 ปี จากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) ลอดซุ้มประตูเมือง

โดยร่วมกันจับชายผ้าทองผ้าเงินความยาว 555 เมตร นครราชสีมา แห่ไปตามถนน ให้ประชาชนที่มาร่วมงานสงกรานต์ได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และสมโภช “เมืองนครราชสีมา ครบรอบ 555 ปี” ลอดซุ้มประตูชุมพล ประชาชนร่วมสรงน้ำพระคันธารราฐ เพื่อเสริมสิริมงคลตลอด 2 ข้างทาง โดยขบวนแห่อัญเชิญ “พระคันธารราฐ” กลับไปยังวัดพระนารายณ์ฯ ผ่านถนนจอมพล

สำหรับประวัติของ “พระคันธารราฐ” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของ “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 ปัจจุบันปี 2566 มีอายุ 101 ปี โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราฐ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมา

จวบจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป กระทั่งเมื่อปี 2560 วัดพระนารายณ์ ได้บูรณะสังขรณ์ปิดทองพระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราฐ แห่ลอดประตูชุมพล” ขึ้นมาอีกครั้งในวันสงกรานต์ ซึ่งการแห่พระลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช

สำหรับ “พระคันธารราฐ” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ โดยลงยาสีเหมือนจริง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว เกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศา ทำเป็นรูปก้นหอยเรียง ตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา มีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย

ทั้งนี้ ประชาชนชาวโคราชนิยมกราบไหว้ “พระคันธารราฐ” เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่า “พระขอฝน”