“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” พระราชทานโล่และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ 12 ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และสาขาวรรณศิลป์

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 เวลา 14.00 น. ณ วังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 จำนวน 12 คน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564

โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายรายงาน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือศิลปินแห่งชาติ ในการนี้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูลเบิกศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานโล่และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติตามลำดับดังนี้

สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ 1.นางวรรณี ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย) 2.ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์) 3.ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) 4.นายมีชัย  แต้สุจริยา (ทอผ้า)

สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ 1.นางนันทพร ศานติเกษม 2.นายวิชชา ลุนาชัย และ สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ 1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ (โนรา) 2.นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) 3.นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย – โขน ละคร) 4.ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร (ดนตรีสากล – ประพันธ์เพลงคลาสสิก) 5.นายสลา คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) และ 6.นายนพพล โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)  

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12 คน คณะผู้เข้าเฝ้าฯ และมีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินแห่งชาติรวมทั้งคณะผู้เข้าเฝ้าฯ ตามพระราชอัธยาศัย

อนึ่ง “กระทรวงวัฒนธรรม” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 เป็นต้นมา ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของศิลปินว่า เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างสรรค์ศิลปะอันงดงามไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน และเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบต่อกันมายาวนาน ปัจจุบันมีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 343 คน

ในปีพุทธศักราช 2564 กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่า เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมและประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 12 คน

ทั้งนี้ “ศิลปินแห่งชาติ” นอกจากจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแล้ว ยังจะได้รับการสนับสนุนในการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะและสวัสดิการ ได้แก่ เงินค่าตอบแทนเดือนละ 25,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการรวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น