เริ่มแล้ว! “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี ม.ราชภัฏโคราช” สุดอันซีน “สุวัจน์” เปิดงานยินดีกับบทบาทการสร้างเส้นทางท่องเที่ยว ประกาศดันสุดตัวเตรียมปักธงให้โคราชเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เป็นซอฟต์พาวเวอร์ กระตุ้นเศรษฐกิจ อลังการมหัศจรรย์ดอกไม้บาน WONDER BLOOMING FLOWERS ทีเด็ดร้านอาหารออกรายการ “ครัวคุณต๋อย” ร่วมเปิดครัวให้ได้ชิม จัดระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2565 – 15 มกราคม 2566
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานโครงการท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ครั้งที่ 7 “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” โดยมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ตนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้มีเกียรติร่วมพิธี ในบรรยากาศทุ่งดอกไม้ที่เนรมิตพื้นที่ 100 ไร่ ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร (100 ไร่) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ข้าง “สวนสัตว์โคราช” ตำบลไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดโครงการท่องเที่ยวเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เพื่อความสุขขึ้นเป็นปีที่ 7 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์อบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งคอนเซ็ปต์ปีนี้ดีมากที่บอกว่า “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” เพราะสถาบันราชภัฏนั้น ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ของจังหวัดนครราชสีมา ปีหน้าก็จะครบ 100 ปี และภารกิจที่สําคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตามเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยคือ การที่จะตอบสนองพัฒนาท้องถิ่น นอกเหนือจากงานวิชาการโดยทั่วไป การที่ได้มีพื้นที่บริเวณสวน 100 ไร่ และเป็นศูนย์อบรมวิจัยทางการเกษตรถือว่าเป็นงานวิชาการอย่างหนึ่ง”
“ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้ต่อยอดเพื่อให้งานวิจัยได้มีความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการประยุกต์ใช้งานวิชาการ งานวิจัยจากสวน 100 ไร่ แห่งนี้ เข้ามาในเรื่องของการท่องเที่ยว ในเรื่องของเกษตร อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญมากในการที่จะผสมผสานงานวิจัย งานวิชาการ ผสมผสานกับภารกิจในเรื่องท้องถิ่น ผสมผสานกับเรื่องเศรษฐกิจ”
“มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จะมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ 4 แห่ง ที่จะต้องบูรณาการร่วมกันและทั้ง 4 แห่ง ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเป็นสากลอย่างเช่น ไม้กลายเป็นหินก็มีความเป็นสากล ไดโนพาร์คก็มีความเป็นสากล อุทยานธรณีโลกยิ่งใหญ่ที่สุด”
“หากเราสามารถจะเชื่อมโยงอุทยานธรณีโลก เข้ากับแหล่งอื่นที่ยูเนสโกได้ประกาศรับรองจังหวัดนครราชสีมาไว้แล้วที่เรียกว่า The UNESCO Triple Crown คือ มรดกโลกที่เขาใหญ่, พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช อ.ปักธงชัย และถ้าเราได้อุทยานธรณีโลก อีก 5 อำเภอ (อำเภอเมือง เฉลิมพระเกียรติ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ) คือ สามมงกุฎทางด้านการท่องเที่ยวโคราชจะยิ่งใหญ่ เพราะสามารถที่จะดีไซน์ให้เกิด “ยูเนสโก รูท” คือเส้นทางท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมที่ยูเนสโกประกาศ” นายสุวัจน์ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดงาน “มหัศจรรย์ 100 ไร่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2565 – 15 มกราคม 2566 โดยเปิดไร่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในเวลา 08.00- 18.00 น. ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ
ภายในงานได้รวมรวมความมหัศจรรย์เต็มร้อยทุกพื้นที่ อาทิ มหัศจรรย์ดอกไม้บาน WONDER BLOOMING FLOWERS ชมความงามของทานตะวันหลังนา ดอกไม้หลากสีสันบานสะพรั่งเต็มทุกพื้นที่ 100 ไร่, มหัศจรรย์ร้อยรสความอร่อย WONDER FOOD GOOD TASTE อาหารอร่อยชื่อดังยกทัพมาเสิร์ฟความอร่อย อาทิ ร้านอาหารที่ออกรายการ “ครัวคุณต๋อย”, มหัศจรรย์รถในฝัน AMAZING DREAM CAR นวัตกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า, มหัศจรรย์แห่งเสียงเพลง MIRACLE OF MUSIC เพลิดเพลินกับบทเพลงแสนไพเราะ, มหัศจรรย์พันธุ์ไม้งาม กระบองเพชร CACTUS และสับปะรดสี จากสวนดัง, มหัศจรรย์ WONDER TOYS เพลิดเพลินกับของเล่นแสนสนุก, มหัศจรรย์ DINO HUNTING
สนุกกับการตามล่าฟอสซิลไดโนเสาร์, มหัศจรรย์ HEALTHY FOR LONG LIFE สาระน่ารู้กับทักษะการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง สู่การมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว, มหัศจรรย์ มหกรรมแพะภาคอีสาน ชมการประกวดแพะแกะของชมรมผู้เลี้ยงแพะแกะโคราช ครั้งที่ 3 พร้อมชิมเมนูแพะเมืองย่า, มหัศจรรย์งานวิชาการ นิทรรศการผลงานวิจัยและบริการวิชาการ ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ชมการประกวดการจัดตู้ปลาสวยงามและนิทรรศการเครื่องปั้นดินเผา
นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน ณ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมอย่างเชื่อมโยง แหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ สถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ สวนสัตว์นครราชสีมา, จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. โคราช และอุทยานเรียนรู้สิรินธร เป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ในการท่องเที่ยวของเมืองโคราชต่อไป