กลับมาอย่างยิ่งใหญ่! สงครามวีรกรรรมเลือดท่วมทุ่งสัมฤทธิ์! โชว์ละครเวทีเธียเตอร์ สุดอลังการแสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” รีเทิร์น! ตอน “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” การแสดงกว่า 300 ชีวิตแบบสื่อผสมเสมือนจริง เตรียมชมฟรี! จัดที่ใหม่ ใหญ่ไซซ์บิ๊ก 3 วัน 28-30 ตุลาคม 65 ณ หอประชุมฯ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
“มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล” ร่วมกับทีมเซอร์รีฟ ผู้สร้างผลงานอันลือลั่น โชว์แสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ในงานฉลองชัยชนะท้าวสุรนารี หรืองานย่าโม มาแล้วกว่า 11 ปี ได้จัดงานแถลงข่าวงานแสดงแสง สี เสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกู ชื่อบุญเหลือ” ครั้งที่ 1 ปี 2565 ซึ่งการแสดงชุดนี้ได้จัดขึ้นเนื่องในวัน สถาปนา “คุณหญิงโม” เป็น “ท้าวสุรนารี” โดยมีนักแสดงกว่า 300 ชีวิต มาร่วมสร้างตำนานมหาสงครามปกป้องเมืองนครราชสีมา จากข้าศึก จุดกำเนิดวีรสตรีแห่งเมืองโคราชจนถึงทุกวันนี้
นายสนธยา อ่อนน่วม หรือ “หน่องเซอร์รีฟ” ผู้กำกับการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” เปิดเผยว่า “งานแสดงแสงสีเสียง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ที่ผมได้ทำมากว่า 11 ปี มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่สอดแทรกเข้ามาทั้งเนื้อหา เรื่องราว ไม่ว่ากับการทำงานกับผู้คน สถานที่ สถานการณ์ที่มีการ แปรผันไปทั้งทางบวกและลบ แต่ก็หลุดรอดมาได้ทุกๆครั้ง”
“จากการค้นคว้าสืบเสาะหาข้อมูลในแต่ละปี เพื่อที่จะเอามานำเสนอให้ลูก หลานย่าโม ย่าบุญเหลือ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีโอกาสได้ชม ผมคาดหวังเหลือเกินว่า จะทำให้ความรู้สึกรักชาติ รักโคราช แผ่นดินที่ยาโมและบรรพชนได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อรักษามาจนถึงรุ่นเรา และโดยเฉพาะในครั้งนี้ ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กิจกรรมงานนี้ ได้มีโอกาสเข้ามาในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และผมก็ได้ทราบมาว่า นอกจากครูอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันในเครือ ที่จะได้มีโอกาสเข้าชมแล้ว ทางมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ยังมีแผนที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งสถาบันการศึกษาอื่นๆได้มีโอกาสเข้าชมด้วย”
“การจัดในครั้งนี้เป็นการยกระดับการแสดงแสงสีเสียงเรื่อง “ย่าฉัน…ท่านชื่อโม” ในตอน “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” ให้มี มาตรฐานเป็นละครเวทีเธียเตอร์ ประกอบเทคนิคเอฟเฟคต่างๆให้ผู้มีโอกาสเข้าชมได้รับอรรถรส เข้าถึงกับเนื้อหาเรื่องราวได้มากกว่า ที่เคยจัดมา”
นายสนธยา กล่าวอีกว่า “ผมก็ต้องขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์มุก อาจารย์ปราณีและท่านอธิการมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ที่เปิดโอกาสอนุญาตให้ใช้สถานที่ในครั้งนี้ ส่วนเหตุผลทำไมต้องจัดในเดือนตุลาคม โดยเฉพาะวันที่ 30 ตุลาคม เพราะเป็นวันสำคัญที่ผู้คนน้อยมาก ที่ได้รับรู้ว่าเป็นวันสถาปนา “คุณหญิงโม” ขึ้นเป็น “ท้าวสุรนารี” เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน”
“สำหรับชื่อตอนคำที่ใช้ว่า “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” เอามาเป็นชื่อตอน เนื่องมาจากตัวเองที่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลในเรื่องราวของย่าโม ย่าบุญเหลือ ได้รับรู้อย่างลึกซึ้ง จึงมีความรู้สึกที่ค่อนข้างแย่มากๆ กับข่าวคราวเมื่อบี 63 โด่งดังไปทั่วประเทศ ที่มีรายการหนึ่งบิดเบือน กล่าวหาว่า “ย่าบุญเหลือ” เป็นภรรยาน้อยของ “พระยาปลัดทองคำ” ที่เป็นสามีของคุณย่าโม”
“แม้พี่น้องชาวโคราชจะมีการกดดันให้ทางรายการเข้ามากราบขอขมาท่าน ทั้งที่อนุสารีย์และหน้าอัฐิของคุณย่าโม ที่วัดศาลาลอย ตามสื่อต่างๆ ที่นำเสนอไปแล้วนั้น แต่ในคลิปของรายการดังกล่าว ยังไม่ยอมที่จะลบคลิปนี้ออกไป แม้ผู้หลัก ผู้ใหญ่หลายฝ่ายจะขอความร่วมมือ กดดันอย่างไร รายการดังกล่าวก็ยังดื้อแพ่งไม่ลบคลิปออก อาจเป็นเพราะ ปล่อยให้เป็นกระแส สร้างรายได้กับคลิปที่บิดเบือนต่อไป”
นายสนธยา กล่าวต่อว่า “ผมจึงอยากลุกขึ้นมาทำเท่าที่จะทำได้ กับการเสนอข้อเท็จจริง ในรูปแบบนอกตำรา และเหมือนกับให้ย่าโม ได้บอกคนพวกนั้นว่า “หลานกู…ชื่อบุญเหลือ” ตวาดดังๆให้พวกมันได้ยินและเพื่อให้ลูก หลานผู้ชม ได้รับรู้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้จะเริ่มในจุดเล็กๆ ตรงนี้ แต่ผมก็มั่นใจว่า ในอนาคตเรื่องราวนี้จะได้รับการถ่ายทอด จากปากต่อปาก รุ่นสู่รุ่น ว่าจังหวัดนครราชสีมาของเรา มีความเป็นมาที่น่าสนใจเพียงใด”
“โดยการแสดง “ย่าฉันท่านชื่อโม” ตอน “หลานกู ชื่อบุญเหลือ” ครั้งที่ 1 ปี 2565 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28-30 ตุลาคม 2565 ณ หอประชุมวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล งานนี้ชมฟรี! ส่วนรายละเอียดวันแสดงจะแจ้งทางสื่อต่างๆให้ทราบต่อไป” นายสนธยา กล่าวทิ้งท้าย