“ประชารัฐ”ยุคออนไลน์ จับมือรวมตัวกันของโรดโชว์ “นครชัยบุรินทร์” 4 จังหวัดภาคอีสาน นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์และสุรินทร์ พัฒนาพลิกโฉมโรดโชว์สตาร์ทอัพสินค้าท้องถิ่น เกษตรและท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบกระบวนการ “ตลาดอิเล็กทรอนิกส์” Electronic Market หรือ e-market แห่งแรกในประเทศเพิ่มยอดขายหลายเท่าตัวเพื่อให้สินค้าประชารัฐก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2560 ที่ห้องสีมาแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา ได้มาเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ผู้บริหารบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เพื่อจัดแผนส่งเสริมการตลาดประชารัฐ” โดยมี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ลูกชายเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีติดระดับท็อปทูของเมืองไทย และผู้บริหารบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีในพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด นักพัฒนาธุรกิจชุมชน 20 จังหวัด ผู้บริหารบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดจากภาคอื่นๆ อีกจำนวน 4 บริษัทเข้าร่วมสัมมนา
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการสัมมนาผู้บริหารบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เพื่อจัดทำแผนส่งเสริมการตลาดประชารัฐและการลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล”
“ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าประชารัฐเพื่อให้สินค้าประชารัฐก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 นับเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่ต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดความมั่นคงสร้างรายได้ให้ชุมชน และประชาชนมีความสุข”
“และต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดการกิจกรรมในครั้งนี้ โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานและ MD บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ทุกท่าน” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว
ด้านนายมนตรี จงวิเศษ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครราชสีมา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผยว่า “โครงการนี้เป็นการรวมตัวกันของโรดโชว์ เป็นงบของกลุ่มภาค “นครชัยบุรินทร์” 4 จังหวัดภาคอีสานคือ นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์และสุรินทร์ ซึ่งมี ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้แต่ทำเป็นเรื่องนวัตกรรม ซึ่งไม่เหมือนการนำสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นร้านๆไปวางขายแบบสมัยก่อน”
“โดยวันนี้ทุกร้านจำหน่ายสินค้าทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบกระบวนการ “ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์”(Electronic Market) หรือ e-market โดยทำแบบ ขายได้ทั้งกลางวัน-กลางคืน โดยเรากำลังจะทำเป็นแนวยุคใหม่ นำเรื่องเกษตร ท่องเที่ยวและสินค้าแปรรูป เอามาเข้าสู่นวัตกรรม แล้วเอาไปนำเสนอเพื่อขาย”
นายมนตรี กล่าวอีกว่า “โครงการนี้เป็นการทำการตลาดการขายแบบยุคใหม่ โดยมีโคราชนำร่องเป็นปธ.จัด และชวนอีก 3 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ มาทำกรุ๊ปปิ้งเพื่อที่จะนำไปเสนอในงานโรดโชว์ต่างๆ และตอนนี้มีคิวไปโรดโชว์ภูเก็ตและพัทยา โดยทำให้แตกต่างจากที่อื่น โดยเรานำเอาสินค้า ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเดิมมาทำแพ็คกิ้งใหม่ให้ดูสวย และมีเรื่องเล่าเป็น Story ต่างๆประกอบเพื่อเข้าสู่ e-market สินค้าใครดีอยู่แล้วก็มาช่วยส่งเสริมให้กระตุ้นยอดขายดีขึ้น ตอนนี้มีที่เราเป็นแห่งแรก”
“การไปโรดโชว์แต่ละครั้งจะไม่เหมือนก่อนที่มีกว่า 80 บูธ เราใช้พื้นที่เยอะ ซึ่งเมื่อก่อนจะขนของไปขายตรงๆไปตั้งบูธ แต่ตอนนี้เราเหลือ 4 บูธพร้อมบูธกลางที่ลดขนาดพื้นที่ลง แค่กดสมาร์ทโฟนสั่งซื้อออนไลน์ได้เลย พร้อมเรื่องราวต่างๆของสินค้าที่บอกรายละเอียดทั้งหมด โดยเราจะไม่ต้องขนสินค้าไปขายหน้างานจำนวนมากอีกต่อไป”
“ตอนแรกเริ่มจาก 4 จังหวัดนครชัยบุรินทร์ แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 24 จังหวัดแล้ว อย่างงานวันนี้มี คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มาร่วมงานเพื่อจะมาช่วยหาทางว่าภาคเอกชนจะมาร่วมช่วยอะไรได้บ้าง และจะลงพื้นที่ด่านเกวียนเพื่อดูว่าจะช่วยฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างไร นี่คือเคสตัวอย่าง”
นายมนตรี กล่าวต่อว่า “สำหรับการจัดโครงการ “โรดโชว์ธุรกิจกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์” ซึ่งมีเป้าหมาย คือ สร้างรายได้ให้ชุมชน เชื่อมโยงสานสัมพันธ์ และ เพิ่มช่องทางตลาดระหว่างประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด และ กลุ่มจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1.เพื่อให้มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น, 2.เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ และ 3.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการขาย สินค้าให้กับผู้ประกอบการ/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยีสู่ไทยแลนด์4.0”
“ทั้งนี้มีภาคเครือข่ายร่วมดำเนินงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์) ร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งในโครงการจะจัดทำชุดสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ติดตั้งเทคโนโลยี AR CODE ที่สามารถเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นส่งเสริมการขาย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง รายการสินค้าของผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนแต่ละรายได้โดยตรง” นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย