กลุ่มสถาปนิกอีสานฯ เร่งอนุรักษ์ “หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” สภาพสมบูรณ์ที่สุด อยู่ในบ้านโบราณ “พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทโสฬล)” ข้างวัดพระนารายณ์มหาราช ถ.อัษฎางค์ เตรียมปิดพื้นที่ฟื้นฟูใหม่ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประวัติศาสตร์เมืองเก่าแลนด์มาร์คโบราณหาชมยาก เชื่อมอนุสาวรีย์ย่าโม-ศาลหลักเมือง-พระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช”
วันที่ 13 มีนาคม 2564 ที่ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีการจัดเวทีเสวนา “ประวัติศาสตร์ผ่านหลุมหลบภัยโคราช” ณ บ้านพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทโสฬล) ซึ่งสร้างขึ้นช่วงเหตุการณ์ระหว่างเกิด “สงครามโลกครั้งที่ 2” เมื่อปีพ.ศ. 2482-2488 พร้อมแนวทางการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา
โดยมีนายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสานฯ ร่วมกับ กลุ่มนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จาก ม.ราชมงคลอีสาน, ม.ราชภัฎนครราชสีมา, มทส., ม.วงษ์ชวลิตกุล พร้อมนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา, นายอิทธิพล คัมภิรานนท์ ประธานภาคีอนุรักษ์เมืองนครราชสีมา ในฐานะเลขานุการชมรมผู้สืบสกุล ณ ราชสีมา และพระยากำธรพายัพทิศ นางกรุณา นิลพันธุ์ อายุ 70 ปี ทายาทตระกูลอินทโสฬส ณ ราชสีมา
นายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน กล่าวว่า “หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ในบ้านพระยากำธรพายัพทิศ ตั้งอยู่กลางเมืองโคราช ซึ่งอดีตเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาคนสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปีพ.ศ.2475 ซึ่งหลุมถูกปิดมา 60 กว่าปีแล้ว พอทางเรามาเห็นสภาพดีมาก 80-90% คาดว่าจะเป็นทหารญี่ปุ่นสร้างไว้เพราะช่วงเหตุการณ์ขณะนั้นญี่ปุ่นยึดโคราช เพราะทางกลุ่มสถาปนิกดูการออกแบบหลุมหลบภัยจะเป็นแบบของญี่ปุ่น”
“จากเหตุการณ์เมืองโคราชถูกทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟนครราชสีมา หลุมนี้น่าจะสร้างไว้ช่วงนั้นเพื่อคนระดับสูงหรือวีไอพี ซึ่งในประเทศไทยมีแค่ 4 หลุมที่ยังคงอยู่ให้เห็น จากการสืบค้นตระกูลพระยากำธรพายัพทิศ มาจากลูกหลานพระเจ้าตาก ฟังดูแล้วน่าตกใจ”
“ได้คุยกับทางผู้ว่าฯวิเชียร แล้วเริ่มต้นเราเคลียร์พื้นที่รอบหลุมหลบภัยใหม่ ตัดต้นไม้รกออก จะปูพื้นใหม่พร้อมซ่อมแซมหลุมหลบภัย ส่วนตัวบ้านโบราณทรุดโทรมมาก แต่โต๊ะเก้าอี้เตียงโบราณสภาพดีสวยได้มีการย้ายไปไว้ที่ มทส.แล้ว สำหรับตัวบ้านเก่าต้องใช้งบปรับปรุงสูง”
“และจะทำให้เป็นบ้านพิพิธภัณฑ์เจ้าเมืองนครราชสีมา หลุมหลบภัย เป็นอีกแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวตัวเมืองเก่าของโคราช ที่เชื่อมระหว่างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) มาศาลหลักเมือง และชมพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ในวัดพระนารายณ์ที่กำลังจะสร้าง แต่ช่วงแรกได้ทำป้ายบอกที่มาของหลุมหลบภัยนี้” นายวีรพล กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับหลุมหลบภัยบ้านพระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) เป็นหลุมหลบภัยส่วนบุคคลที่สร้างเพื่อความปลอดภัยเจ้าเมืองนครราชสีมาและครอบครัว มีขนาดความจุได้ประมาณ 20 คน สร้างในช่วง พ.ศ 2478-2488 สันนิษฐานว่าสร้างโดยทหารช่างของเมืองนครราชสีมาในสมัยนั้น ลักษณะของหลุมขุดเป็นห้อง 4 เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2.00 x 2.50 เมตร ลึกประมาณ 2.4 เมตร มีประตูทางเข้าสองฝั่งเยื้องกัน เป็นบันไดกว้างประมาณ 60-70 ซม.
ตัวหลังคาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงปั้นหยา มีช่องท่อระบายอากาศ 2 ด้าน วัสดุและโครงสร้างโครงสร้างพื้นด้านล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 40 ซม.ผนังทุกด้านเป็นผนังกินดินก่ออิฐฉาบปูน หนา 40 ซม. สภาพปัจจุบันของหลุมหลบภัย (สำรวจเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564) อยู่ในเขตที่ดินบ้านพระยากำธรพายัพทิศ ซึ่งด้านหน้าเป็นบ้านไม้เก่าสองชั้นปล่อยร้าง ส่วนด้านหลังเป็นบ้านเช่ากึ่งปูนกึ่งไม้ สูง 2 ชั้น มีโรงครัวชั้นเดียวอยู่ด้านข้าง”
สภาพหลุมหลบภัยโครงสร้างค่อนข้างสมบูรณ์ มีส่วนเสียหายระหว่างรอยต่อหลังคาทางลงทั้งสองฝั่ง มีคอนกรีตแตกร้าว น้ำฝนสามารถผ่านได้ ทำให้เห็นว่ามีเหล็กเสริมในคอนกรีตทางลงหลุมฝั่งทิศตะวันตกผนังกะเทาะออกเนื่องรากต้นไม้ดันเข้ามาด้านใน ภายในหลุมมีน้ำท่วมขัง ในหน้าฝนจะท่วมปริ่มขึ้นมาปากหลุม ส่วนในหน้าแล้งจะแห้งเหลือน้ำสูงประมาณ 40 ซม.ในอดีตเจ้าของบ้านใช้หลุมหลบภัยเป็นที่เก็บน้ำฝนใช้ยามหน้าแล้ง