รฟม.เปิดรับฟังความเห็นไฟนอล ขนส่งมวลชนเมืองโคราช งบศึกษา 3 รอบ “รถไฟฟ้ารางเบา LRT” สายสีเขียวเชื่อมรถไฟทางคู่-ความเร็วสูง เส้นทางจากตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ ขากลับปรับเส้นทางหนีคอขวดถนนโพธิ์กลาง พร้อมดึงเอกชนร่วมลงทุน ล่าสุด “หมอโจ้” สุดทนมีกลุ่มขอให้ปรับเปลี่ยนเส้นทางสร้างสายแรก ทำงบศึกษานาน 10 ปี 130 ล้านจะสูญเปล่า โคราชต้องนับหนึ่งใหม่

ฟังความคิดเห็น 2 ขนส่งมวลชนโคราช

หลังจากเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย “รฟม.” และการรถไฟแห่งประเทศไทย “รฟท.”ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะข้อมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) และข้อมูลการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถไฟทางคู่บริเวณสะพานสีมาธานี โดยมีที่ปรึกษาโครงการทั้ง 2 โครงการ นำเสนอข้อมูลผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล

รฟม.เผยข้อมูลสายแรกรถไฟฟ้ารางเบา

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะข้อมูลโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ที่ปรึกษาโครงการได้นำเสนอข้อมูลทั้งหมด 9 หัวข้อ คือ 1.แนวเส้นทางโครงการ 2.รูปแบบของสถานี 3.การลงทุนและงบประมาณ 4.การรับน้ำหนักของรถไฟฟ้าบนถนนที่จะรองรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน 5.ระบบการเชื่อมต่อระหว่าง LRT และการขนส่งเดิมหรือรถประจำทาง 6.การเดินรถ 2 ช่องจราจรบนถนนเดียวกัน 7.การจัดการระหว่างก่อสร้าง 8.สรุปผลการประชุมกล่อมย่อมครั้งที่ 2 และ 9.แผนดำเนินงานโครงการ

“หมอโจ้”ยืนยันย่านการค้าโคราชเงียบ

            นายจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และประธานกลุ่มโคราชเพื่อโคราช ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เพื่อที่จะเข้ามาแก้ปัญหาจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา ว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่น อีกทั้งย่านเมืองเก่า หรือย่านเศรษฐกิจสำคัญใจกลางเมืองมีปัญหา การพัฒนาเศรษฐกิจก็ออกไปนอกเมือง ทำให้เมืองถูกทอดทิ้งไป ย่านเมืองเก่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างมาก”

แก้รถติดต้องมีขนส่งมวลชนเหมาะสม

“และมีปัญหาจราจรที่วันนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เราก็คิดว่าจำเป็นที่ต้องหาระบบเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาจราจร ขณะเดียวกันก็ไปตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาย่านการค้าที่เมืองเก่าซบเซาลงไปด้วย นั้นก็คือเป็นเหตุที่ทำให้เกิดมีการศึกษาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม และเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับเมืองโคราช”

งบศึกษาระบบขนส่ง 2 รอบ 50 ล้าน

            นายจักริน กล่าวอีกว่า การศึกษาดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่เทศบาลนครนครราชสีมา ที่ได้ใช้งบประมาณในการศึกษา เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยครั้งแรกใช้งบประมาณ 10 กว่าล้านบาท และหลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษาอีกครั้งเป็นรอบที่สองใช้งบประมาณ 40 กว่าล้านบาท โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ มทส. มี ศ.ดร.สุขสันต์ หอพิบูลสุข เป็นหัวทีมศึกษา เพื่อมาดูระบบ และเส้นทางที่เหมาะสมกับเมืองโคราช”

รัฐให้อีก 80 ล้านรฟม.สรุปทั้งระบบ

“ครั้งที่สองนี้ถือเป็นการศึกษารูปแบบระบบ และเส้นทางความเป็นไปได้เบื้องต้น และล่าสุดนี้ รัฐบาล จัดสรรงบประมาณอีกว่า 80 ล้านบาท ได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบมาศึกษาเพื่อทำการออกแบบระบบโดยละเอียด ทั้งเรื่องของเส้นทาง ที่ตั้งของสถานี หรือจุดจอด พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงวันนี้ หากรวมงบประมาณที่ใช้สำหรับการศึกษาเพื่อหาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมสำหรับเมืองโคราช รวมกันกว่า 130 ล้านบาท”

เริ่มสายสีเขียว“เซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์”

            นายจักริน กล่าวต่อว่า “จากผลการศึกษาที่ สนข.มอบหมายให้ มทส.ทำการศึกษา ผลออกมาว่า ระบบขนส่งมวลชนที่มีความคุ้มค่า และเหมาะสมที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเมืองโคราช คือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ส่วนเรื่องของเส้นทาง ถูกกำหนดเป็น 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สีส้ม และสายสีม่วง ซึ่งสายสีเขียวเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน เข้าถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ผ่านโรงเรียนสุรนารีวิทยา เข้าถนนสุรนารายณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ-ราชมงคลอีสานนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บ้านนารีสวัสดิ์แถวตลาดไนท์บ้านเกาะ”

ขากลับปรับเส้นทางหนีคอขวดถ.โพธิ์กลาง

            “และส่วนขากลับ จะไม่ได้วกกลับไปที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) แต่ไปเข้าถนนจอมสุรางค์ยาตร ไปถึง 5 แยกหัวรถไฟ ก่อนเข้าถนนมุขมนตรี ไปสิ้นสุดที่ตลาดเซฟวัน ซึ่งในส่วนนี้มีการปรับเส้นทางเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบบริเวณถนนโพธิ์กลางที่เป็นคอขวด นี่คือผลการศึกษาที่ถูกเลือกมา เป็นเส้นทางเส้นแรก จากนี้ไปก็ต้องมีการศึกษาว่าจะมีเอกชนรายใดที่สนใจมาร่วมลงทุนกับภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนนี้ คาดว่าต้องใช้เวลา 4-5 ปี หากไม่มีปัญหาติดขัดอะไรเกิดขึ้น”

ชาวโคราชเห็นด้วยรถไฟฟ้ารางเบา LRT

            นายจักริน กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่ตนได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น กว่าจะได้ข้อสรุปในวันนี้ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี ตั้งแต่เทศบาลนครนครราชสีมา ได้เริ่มทำการศึกษา ต่อด้วย สนข. และ รฟม. ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การสรุปผลการศึกษาโครงการ ที่กำหนดมาเป็น 3 เส้นทาง และได้เลือกเส้นทางสายสีเขียว เป็นเส้นทางนำร่องที่จะเริ่มก่อสร้างก่อน ซึ่งช่วงของการศึกษาเลือกเส้นทางนำร่องนี้ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาเป็นปี ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธ และเห็นด้วยที่จะให้ รฟม.เริ่มก่อสร้างสายสีเขียวเป็นเส้นทางแรก โดยได้ออกแบบรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

สายสีเขียวเชื่อมรถไฟทางคู่-ความเร็วสูง

“ด้วยเหตุผลสำคัญที่เลือกเส้นทางสายสีเขียวเป็นเส้นทางนำร่องนั้น คือ จ.นครราชสีมา จะมีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่จะสามารถเชื่อมต่อรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ถนนมุขมนตรี สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียวได้ ทำให้เกิดโครงข่ายการจราจรเกิดขึ้น และบางส่วนก็สามารถไปเชื่อมกับสถานีขนส่งแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 หรือ บขส.ใหม่ส่วนเหตุผลรอง คือ จุดมุ่งหมายของ สนข.ตั้งแต่เริ่มแรก ต้องการมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจในเขตย่านเมืองเก่าที่วันนี้ซบเซา”

สับคนบางกลุ่มพยายามให้เปลี่ยนเส้นทาง

            ส่วนกรณีที่มีบางกลุ่มออกมาพยายามให้เปลี่ยนเส้นทางนำร่อง หรือสายสีเขียว เปลี่ยนไปวิ่งบนถนนมิตรภาพนั้น นายจักริน แสดงความไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า “ตนได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการฯ วันนี้หากชาวโคราช ต้องมานับหนึ่งใหม่ เนื่องจากรถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียว ใกล้จะมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว อีกทั้งใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาทในการทำการศึกษาจนได้ข้อสรุป”

โคราชต้องเดินหน้าไม่ใช่นับหนึ่งใหม่

“และมาวันนี้คนบางกลุ่มมาบอกว่า ต้องการให้เปลี่ยนแนวเส้นทางใหม่ ตนขอย้อนถามไปยังคนกลุ่มนี้ว่า เรากำลังเข้าสู่โหมดที่จะเตรียมการก่อสร้างในเส้นทางสีเขียว แต่พอมีบุคคลมาติงให้ปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง เราต้องเปลี่ยนตามหรือไม่ และที่ลงทุนศึกษาใช้งบ 80 ล้านบาท มาตั้งแต่แรกก็ต้องสูญเปล่า หรือต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่”

ผ่านการศึกษา-ฟังความเห็น 10 ปีแล้ว

เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “ซึ่งตอนที่ สนข.สรุปเส้นทาง 3 เส้นทางไม่ใครออกมาปฏิเสธ พอเราเลือกเส้นทางมาศึกษาเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง กระบวนการควรที่จะจบไปแล้ว หากต้องนำกลับมาศึกษาเส้นทางใหม่ งบประมาณที่เสียไปใครจะรับผิดชอบ เราต้องมานับหนึ่งกันใหม่ ตนจะไม่คัดค้านอะไรเลยถ้าข้อเสนอนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาของ สนข.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว”

จะเดินหน้ารถไฟฟ้าหรือยืดอีก 5 ปี

“แต่นี่กระบวนการทั้งหมดมันเลยขึ้นตอนนั้นไปแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเส้นทางสายสีเขียวที่จะเป็นเส้นทางก่อสร้างก่อน หากต้องเปลี่ยนก็เท่ากับว่าเรากลับไปจุดเริ่มต้นของการศึกษา เวลาก็จะขยายออกไปไม่ต่ำกว่า 5 ปี ตนขอถามว่า เราจะมีความขัดแย้งแบบนี้ไปเรื่อยๆใช่มั้ย”

ไม่ใช่เวลาเปลี่ยนเพราะไฟนอลแล้ว!

“วันนี้คนโคราชต้องทบทวน เพราะความเจริญกำลังจะเข้ามาที่โคราช แต่พอเราไม่คุยกันให้เบ็ดเสร็จตั้งแต่แรก พอเวลากำลังจะสร้าง ก็มีคนแย้งให้แก้ใหม่ เอาใหม่ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ ถ้าหากว่าข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนเส้นทางเกิดขึ้นช่วงการศึกษาเลือกเส้นทาง จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะร่วมกันถกเถียงกัน แต่วันนี้มันผ่านขั้นตอนนั้นไป และเตรียมที่จะดำเนินการก่อสร้างแล้ว” เภสัชกร จักริน กล่าวทิ้งท้าย