“คลินิกกัญชา”เพื่อการรักษาเดินหน้า “กัญชาช่วยชาติ” ตามนโยบาย “หมอหนู-อนุทิน” ล่าสุดโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำร่องบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคทางการแพทย์ 4 ภาวะอาการ โดยทีมแพทย์ผ่านการอบรมหลักสูตรจากกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว
นายแพทย์ ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า “ขณะนี้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เปิดบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ที่คลินิกกัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอกและอำนวยการ ในวันและเวลาราชการ”
“ในส่วนการรักษา เนื่องจากการผลิต สารสกัดกัญชาไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งประเทศ กำลังรอการจัดส่งจากองค์การเภสัชกรรม สอบถามเพิ่มเติมที่ กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร.044-232240, 044-235972″
ผอ.รพ.มหาราช กล่าวอีกว่า “สำหรับการใช้สารสกัดกัญชาที่ได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ในภาวะอาการดังนี้ 1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด 2.โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ 4.ภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล”
“ซึ่งการนำสารสกัดกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ จำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชาเป็นการรักษาเริ่มต้นตามนโยบาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ผอ.รพ.มหาราช กล่าว
สำหรับยากัญชาในปัจจุบัน มีอยู่ 3 แบบ คือ 1. สารสกัดกัญชาทางแพทย์แผนปัจจุบัน ที่มีสูตร ทีเอชซีเด่น (กล่องแดง) ซีบีดีเด่น (กล่องสีเขียว) และสูตรผสมหนึ่งต่อหนึ่ง (กล่องสีเหลือง) 2.น้ำมันกัญชาที่สกัดด้วยน้ำมันมะพร้าว และ 3.ยาแพทย์แผนไทยที่เห็นชอบแล้ว 16 ตำรับ แต่ยาที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบริการทางการแพทย์ก่อนในวันนี้ จะเป็นสูตรสาร ทีเอชซีเด่น (กล่องสีแดง)
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีแพทย์แผนปัจจุบัน 1 คน และแพทย์แผนไทย 3 คน ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจากกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว และจะส่งไปอบรมเพิ่มอีก 10 คน ในส่วนของผู้ป่วยในกลุ่มแผนปัจจุบันที่รักษาด้วยน้ำมันกัญชาเข้ามารับคำปรึกษา ประมาณ 100 คน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรคที่รักษาด้วยยาแพทย์แผนไทยมีประมาณ 500 คน