“สวนสัตว์โคราช” สุดเจ๋ง! ต่อชีวิต “ตะโขง” หรือจระเข้ปากกระทุงเหว สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นผลสำเร็จ สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ของไทย
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 ที่สวนสัตว์โคราช นายพิทักษ์ อุ่นซ้อน ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดเผยว่า “สวนสัตว์นครราชสีมา ได้ดำเนินภารกิจด้านการนุรักษ์ วิจัย เพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของไทย ซึ่งหนึ่งนั้นคือ “ตะโขง หรือจระเข้ปากกระทุงเหว” ซึ่งเป็นจระเข้พันธุ์หายากที่สุดในประเทศไทย”
“สำหรับ “ตะโขง” เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ที่มีปากเรียวยายคล้ายปากปลาเข็ม พบในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลทางการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับตะโขงมีน้อยมาก สวนสัตว์นครราชสีมา จึงได้เริ่มศึกษาและเพาะตะโขงเพื่อเพิ่มจำนวน ตั้งแต่ปี 2559-2562 พร้อมกับรวบรวมผลจากการศึกษาวิจัย “โครงการเพาะขยายพันธุ์ตะโขงนอกถิ่นอาศัย” ภายในพื้นที่สวนสัตว์นครราชสีมา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และเพิ่มพูนประสบการณ์การดูแลตะโขงให้กับเจ้าหน้าที่ในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สามารถดูแลตะโขงในกรงเพาะเลี้ยงภายในสวนสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดการสูญเสีย”
“และในโอกาสเข้าสู่ “สัปดาห์วิทยาศาสตร์” สัปดาห์แห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนรวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย “สวนสัตว์นครราชสีมา” จึงจัดกิจกรรมแสดงผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ “ตะโขง” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้-ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับตะโขง ให้เด็ก เยาวชนและนักท่องเที่ยว เข้ามาศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง”
ผอ.สวนสัตว์โคราช กล่าวอีกว่า “พร้อมทั้ง เข้าชมการแสดงผลงานทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ อาทิ นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับตะโขง, การเพาะเลี้ยง, การดูแล, อาหาร และพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นส่งต่อองค์ความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานทางวิชาการให้ประชาชนรับทราบอย่างแพร่หลายอีกด้วย”
“สำหรับลักษณะทางชีวภาพของ “ตะโขง หรือตะโขงมลายู” หรือเรียกอีกอย่างว่า “จระเข้ปากกระทุงเหว” เป็นสัตว์เลื้อยคลานอยู่ในวงศ์ตะโขง มีขนาดใหญ่ในอันดับจระเข้ ซึ่งในประเทศไทยมี 2 สกุลรวม 3 ชนิดได้แก่ “สกุลจระเข้” มี 2 ชนิด คือจระเข้น้ำจืดหรือจระเข้บึง กับจระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้อ้ายเคี่ยม”
“ส่วน “สกุลตะโขง” มี 1 ชนิด คือ ตะโขงหรือจระเข้ปากกระทุงเหว โดยปัจจุบัน ตะโขงจะเหลือเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือตะโขงอินเดีย พบได้ในเอเชียใต้ และตะโขงมลายูหรือจระเข้ปากกระทุงเหว ที่พบได้ในแหลมมลายูและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งตะโขงมลายู จะมีลักษณะลำตัวปานกลางสีน้ำตาลแดง มีแถบสีดำหรือน้ำตาลพาดลำตัว และหางยาวเต็มที่ 2.80-3.00 เมตร ปากแหลมเรียวยาวมากคล้ายปากปลาเข็ม มีหางแบนใหญ่ แต่ไม่มีก้อนเนื้อตอนปลายจมูกเหมือนตะโขงอินเดีย ที่ลำตัวยาวได้ถึง 5 เมตร” ผอ.สวนสัตว์โคราช กล่าวทิ้งท้าย