“มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา” เดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อสังคมต่อเนื่อง รวมพลังสื่อมวลชนโคราช ร่วมสร้าง “โป่งเทียม” ให้กับกระทิงเขาแผงม้า โดยเฉพาะกระทิงป่า ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ตัวในเขตห้ามล่าสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าและส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ที่บริเวณทุ่งหญ้า จุดสกัดเขาสูงเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นายผดุง จตุรภักดิ์ ประธานมูลนิธินักข่าวนครราชสีมา ได้นำสมาชิกมูลนิธินักข่าวนครราชสีมา จำนวนกว่า 30 คน ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า สมาชิกสโมสรไลอ้อนราชสีมา และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว ช่วยกันขุดดินแล้วเกลี่ยผสมกับเเคลเซี่ยม เกลือสินเทา และกากน้ำตาล เพื่อทำดินโป่งเทียมขึ้น สำหรับเป็นแหล่งอาหารให้กับฝูงกระทิงป่า ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ได้กินอย่างอุดมสมบูรณ์
นางรัชนี โชคเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กล่าวว่า “การสร้างดินโป่งเทียมในวันนี้ เพื่อทำเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์ป่า ซึ่งดินโป่งมีประโยชน์ช่วยทำให้สัตว์ป่า มีการเจริญเติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะกระทิงป่าซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 ตัวในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เขาแผงม้า มักจะชอบออกมากินหญ้าบริเวณนี้ และได้กินดินโป่งที่สร้างขึ้นมา”
“อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้กระทิงออกไปหากินข้างนอกเขตเขาแผงม้า ซึ่งมีความเสี่ยงจะไปเผชิญหน้ากับเกษตรกรและเสียงที่จะกินอาหารที่ถูกการฉีดยาด้วย ดังนั้นกิจกรรมการสร้างโป่งเทียมจึงถือว่ามีประโยชน์มาก สำหรับช่วยให้กระทิงไม่ออกไปหากินข้างนอก และสร้างความเจริญเติบโตให้กับสัตว์ป่าชนิดอื่นในพื้นที่นี้ด้วย”
นายผดุง จตุรภักดิ์ ประธานมูลนิธินักข่าวนครราชสีมา กล่าวว่า “มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา ตั้งขึ้นมา โดยผู้สื่อข่าวหลายสาขา ซึ่งไม่ใช่มีหน้าที่เฉพาะทำข่าวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นการสร้างโป่งเทียมให้สัตว์ป่าในวันนี้จึงเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สมาชิกจะได้มีส่วนร่วม ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดยเฉพาะจุดชมกระทิงแห่งนี้ ถือเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของอำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวนิยมมาชมกระทิงเป็นอย่างมากในแต่ละวัน”
“จึงขอเชิญชวนหน่วยงานอื่นๆ ถ้าสนใจจะร่วมสร้างโป่งเทียม ก็สามารถมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าได้ ส่วนหลังจากนี้ไป มูลนิธินักข่าวนครราชสีมา ก็จะได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดเสวนา ระดมความคิดเพื่อพัฒนาเมือง การช่วยเหลือผู้ยากไร้ การสร้างโรงเรียนที่ยากไร้ และการส่งเสริมกิจกรรมชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น”