“สุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์”เถ้าแก่โชว์รูมคิงส์ยนต์ กลับมาค้านโปรเจ็กต์ปัญหา 10 กว่าปีที่แล้ว “อุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซี” กลางเมืองโคราช ลั่นไม่ได้ขวางความเจริญของเมือง แต่เหตุผล “กรมทางหลวง” ไม่สอดคล้องกับ “สนข.” คนละเรื่องกับในอดีตที่ยังไม่มีวงแหวนและมอเตอร์เวย์ และรถไม่ติดจริงเหมือนกรุงเทพฯ หากลอดอุโมงค์แยกบิ๊กซีมาก็ติดอีก 2 ไฟแดง ด้าน “พรชัย ศิลารมย์” ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง ยัน “หากทางลอดแยกประโดก เชื่อมต่อกับทางลอดแยกบ็กซี” จะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการจราจรถนนมิตรภาพลดปัญหาการจราจรติดขัดได้
นักธุรกิจดังร่วมฟังปัดฝุ่นทางลอดบิ๊กซี
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 60 ที่ห้องเทอร์มินอลฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในโครงการก่อสร้างทางลอดบริเวณสามแยกนครราชสีมา ซึ่งแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 กรมทางหลวง ร่วมกับเทศบาลนครนครราชสีมา จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจโครงการก่อสร้าง “ทางลอดบริเวณสามแยกนครราชสีมา หรือแยกบิ๊กซี” โดยมี นายชัชวาล วงศ์จร ปธ.หอการค้าฯ และ คุณปพิชญา ณ นครพนม ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 โคราช ให้การต้อนรับ
โดยมีกลุ่มนักธุรกิจที่เคยคัดค้านทางลอดแยกบิ๊กซี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ร่วมเวทีนี้กว่า 600 คน ซึ่งกรมทางหลวง ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิศวกร มาชี้แจงรายละเอียดโครงสร้างต่างๆ ประโยชน์ที่จะได้ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะการก่อสร้าง เพื่อให้ผู้รับฟังได้นำไปประกอบการพิจารณาในการเสนอความคิดเห็นคัดค้าน หรือสนับสนุนโครงการก่อสร้างครั้งนี้
ปอกหมดเปลือกทำไมค้านทางลอดบิ๊กซี
นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ประธานหจก.คิงส์ยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คัดค้าน ทางลอดแยกบิ๊กซีเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วได้ให้ความเห็นว่า “โครงการทางลอดแยกบิ๊กซีเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วถูกกลับมาครั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าคิดอะไร และกรมทางหลวง น่าจะคิดอะไรได้มากกว่านี้ เพราะโครงการเดิมมันไม่ได้ตอบโจทย์ และดูจากลักษณะทางที่วิ่งเป็นการระบายรถที่มาจากขอนแก่นผ่านเมืองโคราชไปสระบุรี”
สนข.ชี้ชัดถนนวงแหวนแก้ปัญหาแล้ว
“จริงๆแล้วถ้าใครได้ไปฟังทาง สนข.พูดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560 พูดถึงแผนแม่บทตัวเมืองโคราช ว่าถ้าโครงการก่อสร้างวงแหวนรอบเมืองโคราชสร้างเสร็จแล้ว รถยนต์ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่านเมืองโคราชก็จะไม่เข้ามาต่างจากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว และตัวเลขจำนวนรถที่จะต้องผ่านตัวเมืองโคราช ก็จะหายไปครึ่งนึง”
“เทอร์มินอล”เปิดจราจรโคราชก็ไม่วิกฤติ
“พอจำนวนรถที่เคยผ่านตัวเมืองโคราชกว่าครึ่งที่หายไปใช้วงแหวนแทน เพราะฉะนั้น ทางลอดก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะปริมาณรถลดลงแล้วจะทำทางลอดไปทำไม และจากปี 2550-2560 ทางแยกบีกซีที่จะทำทางลอดแต่ทำไม่ได้ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤติจราจรในตัวเมืองเลย ขนาดมีห้างเทอร์มินอลมาเปิดเมื่อปลายปี 2559 การจราจรก็เหมือนเดิม”
“วงแหวน-มอเตอร์เวย์-รถไฟ”เอื้อแล้ว
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า “ที่ผ่านมา 10 ปีการจราจรเส้นนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่เหมือนกรุงเทพฯต่างกันมาก ปัจจุบันเมืองเปลี่ยนไปมีทั้งถนนวงแหวน รอบนอกและมอเตอร์เวย์แล้วรถก็ไม่ได้เข้าเมืองแล้ว มีรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ มาตอบโจทย์แทนรถยนต์แล้ว ผังเมืองโคราชเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทำไม “กรมทางหลวง” ยังจะคิดมาทำทางลอดแยกบิ๊กซีอีกก็ไม่เข้าใจที่มีความคิดแบบเดิมๆ น่าจะไปคิดทำโครงข่ายรองรับถนนและสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร มากกว่ามารื้อโครงการปัดฝุ่นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมาใช้อีก มันไม่ได้ตอบโจทย์ในปัจจุบันเลย”
5 แยกประโดกสาหัสกว่าแยกบิ๊กซี
“ส่วนทางลอดแยกประโดก หากสิ่งที่ทาง สนข.บอกว่าถนนวงแหวนน่าจะตอบโจทย์ทั้งหมดของเมืองโคราช ตรงนี้ก็ไม่ต้องสร้างก็ได้ ถ้าถามว่าระหว่างแยกบิ๊กซีกับแยกประโดก ใครสาหัสกว่ากัน แน่นอนแยกประโดกเพราะเป็น 5 แยกมีรถโรงพยาบาลผ่านทั้งวันทั้งคืนและถนนช้างเผือกเข้ารพ.มหาราชก็แคบ ไม่เหมือนแยกบิ๊กซีมีจราจรติดแค่ช่วงเช้ากับเย็นเท่านั้น หากทำทางลอดแยกบิ๊กซีคนโคราชได้ประโยชน์น้อยมาก”
แก้ไม่ตรงจุดลอดมาก็เจออีก 2 แยก
“มีผู้ไม่เห็นด้วยอีกคนที่ให้เหตุผลว่า หากลอดอุโมงค์แยกบิ๊กซีมาก็มาติดแยกปั้มปตท.และแยกรพ.กรุงเทพเหมือนเดิม ทำให้รถระบายตรงไหน แล้วจะแก้ยังไง อย่างรถที่ไปโรงเรียนช่วงเช้า-เย็นที่ติดขัดก็ไม่เห็นได้แก้อะไรเลย ตนมองว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นกับความเป็นจริง จราจรไม่วิกฤติทั้งวัน แล้วเมืองก็ขยายออกไปทางจอหอ หากมอเตอร์เสร็จรถก็จะออกไปทางบายพาสหมด ต่อไปรถในเมืองก็อาจจะน้อยลงด้วยซ้ำไป” นายสุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
“ทางหลวง”ยันสถิติปี2559รถแน่น
ด้าน นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวง นครราชสีมาที่ 2 เปิดเผยว่า “เนื่องจากตัวเมืองนครราชสีมา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมาก โดยเฉพาะบริเวณสามแยกนครราชสีมา และบริเวณสามแยกประโดก จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2559 พบว่าบริเวณดังกล่าวจะมีรถยนต์วิ่งผ่านประมาณวันละ 116,000 คัน ซึ่งบริเวณโดยรอบมีชุมชนหนาแน่น ในปัจจุบันได้จัดการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร ทำให้ไม่สามารถรองรับการจราจรได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรจะอยู่ในขั้นวิกฤต”
สาเหตุผุด 2 ทางลอดขยายถนนไม่ได้
“กรมทางหลวงจึงได้พยายามศึกษาแนวทางแก้ไขเพื่อบรรเทาปัญหา แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านกายภาพของทางแยกดังกล่าว ที่มีเขตทางรวมเพียง 40 เมตร และได้ก่อสร้างช่องจราจรเต็มเขตแล้วในทุกทิศทาง จึงไม่สามารถขยายเพิ่มช่องจราจรได้อีกต่อไป กรมทางหลวงจึงได้พิจารณาโครงการก่อสร้างทางลอด บริเวณสามแยกนครราชสีมา และบริเวณทางแยกประโดก เพื่อแก้ปัญหาการจราจรครั้งนี้”
ฉลุยทางลอดแยกประโดก 1,500 ล้าน
“ซึ่งที่ผ่านมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ให้การตอบรับสนับสนุนการก่อสร้างทางลอดบริเวณแยกประโดก มูลค่าการก่อสร้างโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงได้มีการวางแผนดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนแล้ว”
ฟื้นชีพมุดอุโมงค์แยกบิ๊กซีเชื่อมประโดก
นายพรชัย กล่าวอีกว่า “แต่ในส่วนของทางลอดบริเวณสามแยกนครราชสีมา(แยกบิ๊กซี) ซึ่งเคยมีการเสนอโครงการมาก่อนแยกประโดก และมีประชาชนคัดค้านจนตกไปเมื่อหลายปีก่อน มาในครั้งนี้กรมทางหลวง จึงได้นำมาปัดฝุ่นใหม่ เนื่องจากเมื่อมองภาพรวมของโครงการแล้วจะพบว่า ทางลอดแยกนครราชสีมา สามารถเชื่อมต่อกับทางลอดประโดกได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริหารจัดการจราจรได้ดียิ่งขึ้น”
อานิสงส์ได้สร้างทางลอดพร้อมกัน
“ดังนั้นครั้งนี้จึงนำเสนอโครงการให้ประชาชนพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะถ้าผ่านความเห็นชอบของประชาชนก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างในช่วงระยะเวลาเดียวกันไปเลย ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงจะได้ไม่ต้องกังวลกับผลกระทบจากการก่อสร้างทีละโครงการ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรอบ”
การันตี 2 ทางลอดแก้วิกฤติจราจรได้
“โดยหากสามารถสร้างทางลอดทั้ง 2 จุดนี้ได้ ก็จะลดปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมืองนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี ประชาชนที่สัญจรผ่านบริเวณแยกดังกล่าว จะสามารถเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกได้อีกด้วย ดังนั้นกรมทางหลวงจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการเปิดเวทีสาธารณะครั้งนี้ ไปปรับปรุงพัฒนาโครงการก่อสร้าง ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป” นายพรชัย กล่าว
“ทางลอดประโดก”ดีไซน์ปราสาทหินพิมาย
ทั้งนี้โครงการก่อสร้าง “ทางลอดแยกประโดก” มูลค่าการก่อสร้างโครงการ 1,500 ล้านบาท มีรูปแบบภายในทางลอดขนาด 6 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ความกว้างทางลอดโดยรวม 26.60 เมตร ความยาวประมาณ 1,075 เมตร ความสูง 5.50 เมตร และมีช่องทางคู่ขนาน 3 ช่องจราจร ขนาบข้างของทั้งลอดทั้ง 2 ฝั่ง มีผิวทางคอนกรีตกว้างช่องละ 3.50 เมตร เพื่อรองรับการสัญจรของท้องถิ่นและมีการเพิ่มช่องจราจร สำหรับการกลับรถทั้ง 2 ทิศทางบริเวณเหนือทางลอด ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวงได้มีการวางแผนดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนแล้ว
และสำหรับ “ทางลอดแยกประโดก” ชูคอนเซ็ปการดีไซน์ตกแต่งด้วยภาพปราสาทหินพิมาย ให้เกิดความรู้สึกเสมือนได้ลอดเข้าไปอยู่ในปราสาทหินพิมาย และใช้วัสดุในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ และเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา แกะสลักเป็นรูปช่องลายกนกที่ประดับอยู่บริเวณผนังอาคาร
2 อุโมงค์ทางลอดบิ๊กโปรเจ็กต์ 2,300 ล้าน
ส่วนทางลอดสามแยกนครราชสีมา(แยกบิ๊กซี) มีมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด 800 ล้านบาท โดยมีรูปแบบทางลอดมีทิศทางไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 จาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี กำหนดให้ภายในทางลอดมี 2 ช่องจราจร ทางขนานข้างทางลอดในระดับราบมี 3 ช่องจราจรเพื่อให้บริการรถที่ต้องการเลี้ยวซ้ายเข้าเมือง เลี้ยวกลับรถและยานพาหนะอื่นๆที่ไม่อนุญาตให้ใช้ทางลอด สำหรับโครงการก่อสร้างทางลอดแยกประโดก และสามแยกนครราชสีมานั้น มีมูลค่าการก่อสร้างโครงการรวมกันทั้งหมด 2,300 ล้านบาท