เอาจริงแล้ว! รัฐบาลรับร่างไทยปลอดพลาสติก วางโรดแมปเริ่มปี 2562-2565 เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติกฯลฯ
ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกเร่งแก้ปัญหา รวมถึงประเทศไทยแต่ละปีสร้างขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน ปีนี้เริ่มมีความชัดเจนเพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศรับทราบ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 แล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อลดใช้พลาสติกและตั้งเป้าหมายในการลดและเลิกใช้พลาสติก บางประเภทภายในปี 2562 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ 1.พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2.พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ (OXO) และ 3.ไมโครบีด (Microbead) ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และปี 2565 จะเลิกใช้พลาสติก 4 ประเภท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) ได้แก่ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร 3. แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) 4. หลอดพลาสติก ส่วนปี 2570 มีเป้าหมายนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติก กลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100%
ทั้งนี้เรื่องการจัดการพลาสติกเริ่มประชุมในครม. มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ 17 เม.ย. 2561 ครม.สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ทส. กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ต้องมีส่วนร่วมเพื่อลดใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ขณะเดียวกันต้องสร้างมาตรการจูงใจให้บริษัท ผู้ประกอบการต่างๆ ลดปริมาณการใช้พลาสติก โดยยกให้หน่วยงานหลักเป็นกระทรวงพาณิชย์และ ทส. กระทรวงการคลัง ฯลฯ ทำงานร่วมกัน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตัน/ปี ประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ประมาณ 3,900 ล้านบาท/ปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอย พลาสติก โดยการคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้ประมาณ 2,500 ไร่ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 1.2 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า
และถ้านำพลาสติกไปเป็นพลังงานจะก่อให้เกิดพลังงาน 1,830 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 230 เมกะวัตต์ หรือสามารถประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในกระบวนการผลิต เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วัตถุดิบใหม่ โดยประหยัดพลังงานได้ 43.6 ล้านล้านบีทียู หรือคิดเป็นน้ำมันดิบประมาณ 7.54 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท