จังหวัด – เทศบาลนคร นครราชสีมา – วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา และองค์กรต่างๆร่วมกับ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร เตรียมร่วมกันฟื้นประเพณีโบราณกลับมาใหม่เป็นปีที่ 3 ในพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์” หรือ “พระขอฝน” แห่ลอดซุ้มประตูชุมพล ในวันสงกรานต์ 13 เมษายน 2562 และถือเป็นปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายในพิธี “แห่พระขอฝนลอดประตูชุมพล” เมื่อปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ฝนถล่มกลางพิธี
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา จัดการประชุมคณะทำงานงานประเพณีสงกรานต์ “แห่พระคันธารราษฎร์ ลอดซุ้มประตูชุมพล” ประจำปี 2562 โดย ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม และ นายไชยนันท์ แสงทอง วัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา เลขานุการคณะทำงาน พร้อมด้วยตัวแทนส่วนราชการ เข้าร่วมประชุมเตรียมงาม ณ ห้องประชุมสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับประวัติความเป็นมา “พระคันธารราษฎร์” เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สร้างเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2464 โดย “พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี)” เจ้าเมืองนครราชสีมา คนที่ 11 เป็นผู้สร้าง มีขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว สูงประมาณ 1 เมตร 30 เซนติเมตร ครั้งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พระยานครราชเสนี (สหัด สิงหเสนี) เจ้าเมืองนครราชสีมาขณะนั้น ได้ริเริ่มประกอบพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพล” เนื่องในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวโคราชเรื่อยมาจนถึงปี 2522 พิธีกรรมดังกล่าวได้หยุดไป
กระทั่งเมื่อ วัดพระนารายณ์ ได้บูรณะสังขรณ์ปิดทอง พระทศพลญาณประทานบารมี หรือหลวงพ่อใหญ่ และขุดค้นพบพระพุทธรูปโบราณหลายองค์ใต้ฐานพระประธาน ทางวัดจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นพิธีอัญเชิญพระคันธารราษฎร์ แห่ลอดประตูชุมพลขึ้นมา ซึ่งการลอดประตูชุมพล เป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช
สำหรับ “พระคันธารราษฎร์” มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา เป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ โดยลงยาสีเหมือนจริง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาว เกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศา ทำเป็นรูปก้นหอยเรียง ตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา มีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย ทั้งนี้ ประชาชนนิยมกราบไหว้พระคันธารราษฎร์ เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งเรียกชื่ออีกอย่างว่า “พระขอฝน”
สำหรับพิธี “แห่พระขอฝนลอดประตูเมือง” ที่จังหวัดนครราชสีมาได้กลับมาฟื้นประเพณีโบราณสำคัญคู่บ้านคู่เมืองโคราช เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กราบไหว้ และสรงน้ำพระ โดยในวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหารได้มีการก่อเจดีย์ทรายอีกหนึ่งประเพณีโบราณวันสงกรานต์ตกแต่งสวยงาม ให้ประชาชนเข้าชมอีกด้วย
โดยพิธีประเพณีมหาสงกรานต์โคราช “แห่พระคันธารราษฎร์ลอดซุ้มประตูชุมพล” หรือ “แห่พระขอฝน” เป็นพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์ หรือ “พระปางขอฝน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของ “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” ประดิษฐานสู่ราชรถพร้อมการรำบวงสรวง หลังจากนั้นชาวโคราชและประชาชนจะร่วมขบวนแห่เดินจากวัดพระนารายณ์ ไปที่ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อทำพิธีทางศาสนาและให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระคันธารราษฎร์
หลังจากนั้นจะเป็นพิธีแห่พระคันธารราษฎร์ลอดซุ้มประตูชุมพล ขบวนเดินผ่านถนนจอมพลหลังย่าโมผ่านศาลหลักเมืองเพื่อกลับไปที่วัดพระนารายณ์ฯ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากประเพณีนี้ได้ห่างหายไปตั้งแต่ปี 2522 หรือกว่า 4 ทศวรรษหรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
สำหรับเหตุการณ์มหัศจรรย์เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 วันสงกรานต์ปีที่แล้ว ได้เกิดปรากฎการณ์สุดเหลือเชื่อ ผู้ว่าฯวิเชียร จันทรโณทัย พร้อมทุกภาคส่วนร่วมกับชาวโคราช และ“วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร” ทำพิธีอัญเชิญ “พระคันธารราษฎร์” หรือ “พระปางขอฝน” แห่ลอดประตูชุมพล วันสงกรานต์
บรรยากาศเริ่มพิธีที่วัดอากาศร้อนมาก และเกิดปรากฎการณ์สุดเหลือเชื่อ เมื่อขบวนแห่จากวัดมาถึงลานย่าโม ทำพิธีโบราณบรรยากาศจากร้อนกลายเป็นฟ้าครึ้ม และพอถึงช่วงพิธีการสำคัญ ผู้ว่าโคราช นำประชาชนที่มาร่วมพิธีกว่า 1,000 คนเดินจูงผ้าเพื่อแห่ “พระขอฝนลอดประตูชุมพล”
ได้เกิดเหตุการณ์เหลือเชื่อ ฝนตกหนักกลางพิธีทันที จนกระทั่งขบวนแห่กลับมาถึงวัดพระนารายณ์ฯ จู่จู่ ฝนกลับหยุดตก นี่คือสิ่งมหามงคลที่เกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อเมื่อวันสงกรานต์ปีที่ผ่านมา และในวันสงกรานต์ที่จะถึงในวันที่ 13 เมษายน 2562 นี้ ชาวโคราชจะพลาดไม่ได้ที่จะมาร่วมพิธีแห่พระขอฝน อันศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้