3 องค์กรโคราช “ซินโครตรอน-มทส.-บ.อินโนฟู๊ดฯ” ร่วมพัฒนาเปิด “โรงเรือนอัจฉริยะตู้คอนเทนเนอร์” ช่วยป้องกันปัญหาโรคพืช เผยมีคาร์โบไฮเดรตและไฟเบอร์สูงกว่าพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ และที่ปลูกด้วยดิน พร้อมลุยวิจัยต่อยอดผู้บริโภคสายสุขภาพ
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.62 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และบริษัท อินโน ฟู๊ด มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาระบบโรงเรือนอัจฉริยะภายในตู้คอนเทนเนอร์แบบโรงเรือนระบบปิด ควบคุมตัวแปร ปริมาณธาตุอาหาร ความยาวคลื่นแสงและความเข้ม อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ปัญหาความผันแปรของสภาพอากาศในแต่ละฤดู
และเมื่อวิเคราะห์ผักที่ปลูกด้วยระบบดังกล่าวด้วย Synchrotron FTIR Microspectroscopy พบว่า มีคาร์โบไฮเดรตและไฟเบอร์สูงกว่าพืชที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ปกติและพืชที่ปลูกด้วยดิน ทีมวิจัยพร้อมเดินหน้าลุยวิจัยด้านการกระตุ้นพืชสร้างสารสำคัญทางชีวภาพ ทั้งฤทธิ์ทางยาของพืชสมุนไพร หรือพืชที่มีกลิ่นหอม หวังเพิ่มมูลค่าการปลูกพืชเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ผู้บริโภคสายสุขภาพ ส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสู่ด้านเกษตรกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0
ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ หัวหน้าโครงการระบบโรงเรือนอัจฉริยะ เปิดเผยว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และบริษัท อินโน ฟู๊ด มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ ซัพพลาย จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะภายในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นโรงเรือนแบบระบบปิดสมบูรณ์”
“ซึ่งภายในโรงเรือนติดตั้งระบบควบคุมตัวแปรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ ปริมาณธาตุอาหาร ความยาวคลื่นแสงและความเข้ม อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือมีความผันแปรของสภาพอากาศในแต่ละวัน และในแต่ละช่วงฤดูกาล”
“นอกจากนั้นยังเป็นการแก้ป้องกันปัญหาโรคพืช แมลงศัตรูพืช และวัชพืชได้อีกด้วย ผักที่ปลูกในระบบโรงเรือนอัจฉริยะนี้ มีความสมบูรณ์แข็งแรง ปลอดโรค ปลอดสารกำจัดแมลงและวัชพืช จึงเป็นผักที่สะอาด มีความปลอดภัยสูง และมีอายุการเก็บภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายที่ยาวนานขึ้น” ดร.สมชาย กล่าว